สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางการ ฟิลิปปินส์ ได้สั่ง อพยพประชาชน ที่อาศัยริมฝั่งทะเลไปยังพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเดินทางทางทะเล เนื่องจาก เกาะลูซอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศ กำลังเสี่ยงเผชิญกับ ไต้ฝุ่นโนรู (Noru) ที่ทวีกำลังแรงขึ้นทุกขณะและยกระดับเป็น “ซูเปอร์ไต้ฝุ่น” แล้วในขณะนี้
สำนักงานจัดการภัยพิบัติฟิลิปปินส์ระบุในประกาศเตือนว่า ไต้ฝุ่นโนรูได้ยกระดับเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น โดยเคลื่อนตัวด้วยความเร็วลม 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่าซูเปอร์ไต้ฝุ่นโนรูทวีจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะบุกขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ในช่วงบ่ายหรือค่ำวันนี้ (25 ก.ย.) ด้วยความเร็วลม 185 – 205 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ซูเปอร์ไต้ฝุ่นโนรู นับเป็นพายุที่มีความรุนแรงมากที่สุดในบรรดาพายุที่พัดขึ้นฝั่งประเทศฟิลิปปินส์ในปีนี้ (2565) ทางการฟิลิปปินส์ประกาศเตือนว่า พายุลูกนี้อาจทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งกำลังแรง และฝนตกหนัก ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในหลายพื้นที่
ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเกาะที่มักจะถูกพัดถล่มโดยลมพายุเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่แนวโน้มที่น่าวิตกก็คือ นับวันพายุเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น
ก่อนหน้านี้เพียง 9 เดือน ฟิลิปปินส์เพิ่งโดนถล่มโดยซูเปอร์ไต้ฝุ่นอีกลูกที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400 รายและประชาชนนับแสนต้องไร้ที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ พายุไต้ฝุ่นโนรูทวีความรุนแรงมากขึ้นในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยกำลังลมได้เพิ่มขึ้นในอัตรา 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง คาดว่าเมื่อพายุเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ แรงลมอาจเพิ่มขึ้นเป็น 205 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นจึงจะเริ่มอ่อนกำลังลงขณะพัดผ่านตอนกลางของเกาะลูซอน และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ในวันจันทร์ (26 ก.ย.) ก่อนมุ่งหน้าสู่ประเทศเวียดนามเป็นลำดับถัดไป
สำหรับประเทศไทย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่นโนรู ที่มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคอีสานด้านตะวันออกของไทย บริเวณ จ.มุกดาหาร หรือ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 28 ก.ย. นี้
พายุดังกล่าวอาจทำให้ภาคอีสานโดยเฉพาะตอนกลางและตอนล่าง มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ตกหนักถึงหนักมากได้ และมีลมแรง หลังจากนั้นกลุ่มฝนจะเลื่อนมาตกบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ตามแนวการเคลื่อนตัวของพายุ ผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ และสำนักเครื่องจักรกล ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ เร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ด้วยการปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง