ผลเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลี เมื่อวันอาทิตย์ (25 ก.ย.) เป็นไปตามคาด โดย นางจอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni) ผู้สมัครจาก พรรคภราดรแห่งอิตาลี (Brothers of Italy) หรือพรรค FdI (จากชื่อพรรคภาษาอิตาเลียน Fratelli d'Italia) มีคะแนนนิยมนำโด่ง กวาดคะแนนไป 26% และเอาชนะคู่แข่งอีก 4 คน เธอจะเป็น “นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก” ของประเทศ ตามกระบวนการในสภาอีกหลายสัปดาห์ต่อจากนี้
ชัยชนะของจอร์เจีย เมโลนี ยังจะทำให้เธอเป็นผู้นำจากพรรคขวาจัดคนแรกนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้ขึ้นจัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นการเปลี่ยนทิศทางที่ชัดเจนสำหรับอิตาลี และทำให้สหภาพยุโรป (อียู) เกิดความกังวลไม่น้อย เนื่องจากนโยบายที่จะเปลี่ยนไปขณะที่ปัญหาทางเศรษฐกิจของอิตาลี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอียู ก็มีรุมเร้าไม่ต่างจากหลายประเทศในแถบยุโรป นั่นคือ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ผลกระทบจากสงครามในยูเครน และปัญหาวิกฤตพลังงาน
อิตาลีเป็นประเทศล่าสุดในอียู ที่พรรคนิยมขวาจัดซึ่งมีแนวความคิดต่อต้านอียู ได้ขึ้นมามีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์พรรคขวาจัดของสวีเดนก็เพิ่งชนะการเลือกตั้งมาสดๆร้อนๆ
การเลือกตั้งครั้งพลิกประวัติศาสตร์ของอิตาลีเกิดขึ้นหลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายมาริโอ ดรากี เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ชาวอิตาเลียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุตั้งแต่ 18 ปี ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีจำนวนราว 51 ล้านคน สถิติชี้ว่า ครั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง “ครั้งแรก” ในประเทศมีราว 2.6 ล้าน และนอกประเทศราว 4.7 ล้านคน
สำหรับประวัติของ จอร์เจีย เมโลนี ว่าที่ผู้นำหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของอิตาลีนั้น เธอเกิดที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2520 ปัจจุบันอายุ 45 ปี พ่อของเธอมาจากเกาะซาร์ดิเนีย ส่วนแม่ของเธอมาจากซิซิลี ชีวิตครอบครัวไม่ราบรื่นนักเมื่อพ่อจากไปขณะที่เธอมีอายุเพียง 11 ปี
ในปี 2535 เมื่ออายุได้ 15 ปี เมโลนีเข้าร่วม Youth Front ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนของขบวนการสังคมอิตาลีเชิงอนุรักษ์นิยมแห่งชาติ(MSI) จากนั้นในปี 2547 เธอได้เป็นประธานฝ่ายเยาวชนคนหนุ่มสาวของ Youth Action ซึ่งเป็นกลุ่มพลังคนหนุ่มสาวอนุรักษ์นิยมขวาจัด และในช่วงเวลานี้เอง ที่เมโลนีได้เป็นหัวหน้ากลุ่ม "บุตรแห่งอิตาลี" นิยมขวาสุด ซึ่งมีรากฐานจากแนวคิดของ “เบนิโต มุสโสลินี” เผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลี
ในปี 2549 เมโลนีเคยเป็นรองประธานหอการค้าอิตาลี และยังเคยทำงานเป็นนักข่าวในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัว
เธอเป็นหญิงแกร่งที่ก่อตั้งพรรคเล็กๆ จนก้าวขึ้นมาได้รับความนิยมในแถวหน้าโดยไม่ได้รับอภิสิทธิ์ใด ๆ ทางการเมือง ประโยคหนึ่งที่โด่งดังของเธอคือ “ฉันเป็นผู้หญิง และฉันเป็นแม่” หญิงแกร่งคนนี้ เคยลงสมัครผู้ว่าการกรุงโรมขณะตั้งครรภ์ 7 เดือน หลังจากมีคนปรามาสว่าเธอทำไม่ได้
พรรคภราดรแห่งอิตาลี ( Brothers of Italy) ของเธอเป็นพรรคการเมืองแนวขวาจัดสายนีโอฟาสซิสม์ หัวหน้าพรรคหญิงแกร่งคนนี้ เคยปฏิเสธการเข้าร่วมรัฐบาลเหมือนพรรคฝ่ายขวาอื่นๆ มาแล้ว ด้วยเหตุผลเพื่อจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างแข็งขัน
ในปี 2551 เมโลนีได้เป็นรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในอิตาลีขณะอายุ 31 ปี เวลานั้น แม้เมื่อได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว (เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนโยบายเยาวชนในรัฐบาลของนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี) เมโลนียังใช้ชีวิตสมถะโดยอาศัยอยู่ที่บ้านกับแม่ ปฏิเสธการใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ และเลือกที่จะขับรถส่วนตัวไปรัฐสภาแทน
แม้ว่าขณะทำการหาเสียงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เมโลนีจะสนับสนุนการคว่ำบาตรรัสเซียที่บุกเข้ารุกรานยูเครน แต่เธอก็ยังคงยึดถือสโลแกนเก่าๆ ซึ่งกลุ่มฟาสซิสต์ของจอมเผด็จการของอิตาลีอย่าง เบนิโต มุสโสลินี เคยใช้ เช่น “พระเจ้า ครอบครัว และปิตุภูมิ” (God, family, fatherland) แนวคิดของเธออาจจะดูแข็งกร้าวและตรงไปตรงมา เธอเคยพูดต่อต้านกลุ่มเพศทางเลือก (LGBT) และยังเคยเรียกร้องให้มีการปิดล้อมทางทะเลประเทศลิเบีย เพื่อสกัดกั้นการอพยพผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
นิสัยส่วนตัวที่น่าสนใจคือ ว่าที่ผู้นำหญิงของอิตาลีคนนี้ ชื่นชอบการอ่านหนังสือนิยายแนวแฟนตาซีอย่างมาก อาทิ The Lord of the Rings ของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ไปจนถึง The Never Ending Story ที่ประพันธ์โดยมิชาเอล เอ็นเด ชาวเยอรมัน เมโลนีนำชื่อตัวละครที่ประทับใจมาตั้งชื่อการประชุมทางการเมืองที่เธอจัด เคยมีผู้กล่าวว่า ผู้ที่นิยมฝ่ายขวามักเป็นผู้ปลูกฝังแนวคิดแฟนตาซี แต่สำหรับเมโลนี เธอมองว่า การอ่านแนวนี้ ทำให้เธอได้วิธีการอ่านผู้คน เข้าใจวิถีสู่ด้านมืด และมุมมองที่ว่า “พลังอำนาจ” นั้น อันตรายและเป็นศัตรูมากกว่าเป็นมิตร
แม้อิตาลีกำลังจะได้ผู้นำคนใหม่เป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ แต่เมโลนีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักรณรงค์ด้านสิทธิสตรีเช่นกัน
จอร์เจีย เซรูเกตตี ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการเมือง จากมหาวิทยาลัยบิกอกกา (Bicocca University) ในกรุงมิลาน ตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางขวาจัดของเมโลนีอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้หญิง เช่น สิทธิในการทำแท้ง รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่จะจำกัดสิทธิของผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมโลนีเคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอจะไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมายการทำแท้ง แต่เธอต้องการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับ “การป้องกัน” ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่มีแนวโน้มว่าองค์กรต่อต้านการทำแท้งอาจมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในคลินิกวางแผนครอบครัว และแพทย์อาจหลีกเลี่ยงการทำแท้งมากขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของเธอ ขณะนี้แพทย์เพียง 33% ทำแท้งอย่างถูกกฎหมายในอิตาลี และในบางภูมิภาคอยู่ในสัดส่วนต่ำกว่านั้น หรือราว 10%
ภารกิจท้าทายที่กำลังรออยู่ คือ ประเด็นทางเศรษฐกิจซึ่งน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่สุด จุดแข็งของรัฐบาลใหม่น่าจะเป็นการที่กฎหมายเลือกตั้งของอิตาลีเอื้ออำนวยให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงสูงสุด จัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งที่ผ่านมาพรรคร่วมที่มีแนวทางอนุรักษนิยม หรือฝ่ายขวา มักรวมตัวกันได้ดี แตกต่างจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มักคิดเห็นขัดแย้งและกระจัดกระจายกันมากกว่า
เมื่อได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว เมโลนีต้องการให้ทบทวนโครงการการปฏิรูปในสมัยรัฐบาลชุดก่อนอีกครั้งเนื่องจากวิกฤติด้านพลังงานทำให้อิตาลีได้รับแรงกดดันด้านงบประมาณมากขึ้น ทั้งนี้ เท่าที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลนายดรากี เข้าต้องการผลักดันการปฏิรูปซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้อิตาลีได้รับเงินช่วยเหลือและกู้ยืมเพื่อการฟื้นฟูหลังโควิด-19 (วงเงินราว 200,000 ล้านยูโร) จากสหภาพยุโรป
เมโลนียังพูดถึงการปกป้องผลประโยชน์ของอิตาลีให้มากยิ่งขึ้นในสหภาพยุโรปด้วย
รายงานข่าวระบุว่า แม้จะทราบผลคะแนนอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่คงต้องใช้เวลาอีกประมาณเดือนครึ่งกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ โดยภายในกลางเดือนตุลาคม สมาชิกสภานิติบัญญัติจะลงคะแนนเลือกตั้งประธานรัฐสภา จากนั้นประธานาธิบดีเซอร์โจ มัตตาเรลลา จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ จากนั้น นายกฯคนใหม่จะเป็นผู้เสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ต้องได้รับการยืนยันจากประธานาธิบดีและได้รับอนุมัติจากรัฐสภาผ่านการลงคะแนน
ดังนั้น ชาวอิตาลีจะได้รัฐบาลใหม่ราวกลางเดือนพ.ย. 2565