สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวันนี้ (26 ธ.ค.) ว่า การเดินทางท่องเที่ยวในจีน กลับมาคึกคัก สะท้อนจากภาพประชาชนที่สวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรคจำนวนมากได้แออัดขึ้นรถไฟใต้ดินที่ กรุงปักกิ่ง และ นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นสองเมืองใหญ่ที่สุดของจีนที่ได้เริ่ม "ปรับตัว" เข้าสู่ การใช้ชีวิตแบบอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 (ไม่ใช่แบบโควิดเป็นศูนย์) ขณะที่ประชาชนหลายล้านคนทั่วประเทศติดเชื้อ
หลังจากที่มีการบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวดมาเป็นเวลาหลายปีกระทั่งเกิดกระแสประท้วงต่อต้านนโยบายที่เข้มงวดดังกล่าวทั่วประเทศจนเกือบจะกลายเป็นจลาจล ในที่สุดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้ผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะขยายวงกว้างขึ้นทั่วประเทศ
หลังจากการยืดหยุ่นนโยบายแบบไม่ทันตั้งตัว และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาประชาชนในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ยังคงไม่ออกจากบ้าน ไม่ว่าด้วยเหตุผลเรื่องการกักตัวเพราะติดเชื้อ หรือพยายามหลีกเลี่ยงไม่ออกไปสัมผัสเชื้อข้างนอก แต่ก็เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้แล้วว่า การใช้ชีวิตของประชาชนในเมืองใหญ่ทั้งสองเริ่มใกล้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว
รถไฟใต้ดินทั้งในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้แน่นขนัด ขณะเดียวกัน บนถนนสายหลักหลายสายในทั้ง 2 เมืองใหญ่ดังกล่าวมีการจราจรติดขัด และรถเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากประชาชนพากันออกไปทำงานในวันนี้ (26 ธ.ค.)
ถนนสายเดอะ บันด์ (The Bund) ที่เป็นแลนด์มาร์กชื่อดังในเซี่ยงไฮ้ก็คลาคล่ำไปด้วยร้านค้าและผู้คนที่มาร่วมเทศกาลคริสต์มาสตลอดช่วงสุดสัปดาห์ เช่นเดียวกันกับที่ "เซี่ยงไฮ้ดิสนีย์แลนด์" และ "ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ" ในปักกิ่ง ซึ่งผู้คนมาเที่ยวพักผ่อนรับเทศกาลวันหยุดอย่างเนืองแน่นในวันอาทิตย์ (25 ธ.ค.) โดยหลายคนแต่งกายในชุดธีมคริสต์มาสแห่รอต่อคิวเล่นเครื่องเล่น
ขณะเดียวกัน ยอดทริปไปเที่ยวเมืองกว่างโจวทางตอนใต้ของจีนตลอดช่วงสุดสัปดาห์เพิ่มขึ้น 132% จากสัปดาห์ที่แล้ว จากข้อมูลของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เดอะทเวนตีเฟิร์ส เซนจูรี บิสซิเนส เฮอรัลด์
ทั้งนี้ จีนนับเป็นประเทศใหญ่ประเทศสุดท้ายที่ปรับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยมาตรการเข้มงวดของจีนที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจมูลค่า 17 ล้านล้านดอลลาร์ชะลอตัวลงสู่อัตราการเติบโต "ต่ำที่สุด"ในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ กระทบไปยังห่วงโซ่อุปทานและการค้าทั่วโลก