สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2022 ที่กำลังจะผ่านไปว่า น่าจะเป็นปีที่บรรดา มหาเศรษฐีพันล้านทั่วโลก ที่มีรายชื่ออยู่ในทำเนียบ Fortune 500 “อยากจะลืมมากที่สุด” เพราะพวกเขาไม่เพียงต้อง สูญเสียมูลค่าความมั่งคั่ง ที่เฝ้าสั่งสมมา แต่ปี 2022 ยังเป็นปีที่ไม่สร้างผลตอบแทนอย่างที่ตั้งความหวังไว้ จากการลงทุนที่พวกเขายังไม่เห็นว่าจะผลิดอกออกผล
ทั้งนี้ ข้อมูลจากดัชนีมหาเศรษฐีพันล้าน(ดอลล์)ของบลูมเบิร์ก หรือ Bloomberg Billionaires Index พบว่า เหล่ามหาเศรษฐีพันล้านที่มีรายชื่ออยู่ในทำเนียบ Fortune 500 สูญมูลค่าความมั่งคั่งของตนเองรวม ๆแล้วเกือบ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ (กว่า 48.4 ล้านล้านบาท)
รายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจ ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อที่ลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก และการเข้มงวดของธนาคารกลางในหลายประเทศที่ใช้นโยบายการเงินเชิงรุก
แต่อีกส่วนหนึ่ง ก็เป็นผลจากการกระทำของพวกเขาเอง เช่น การเข้าไปพัวพันกับการทุจริตอื้อฉาว การต้องพบเจอกฎระเบียบที่เข้มงวดของภาครัฐที่มีต่อการลงโทษบริษัทยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจ การตัดสินใจในการควบรวมกิจการ และพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
บลูมเบิร์กตั้งข้อสังเกตว่า อภิมหาเศรษฐีโลกส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มเศรษฐีที่ได้รับอานิสงส์ในยุคที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก แต่หลังจากนั้น โชคลาภทางการเงินของเศรษฐีกลุ่มนี้ก็วืดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อวิกฤตโควิดคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็น นายอีลอน มัสก์ (เทสลา) นายเจฟฟ์ เบโซส (แอมะซอน) นายจ้าว ฉางเผิง (ไบแนนซ์) และนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (เมตา-เฟซบุ๊ก) บุคคลทั้งสี่นี้ ความมั่งคั่ง (มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ)ลดลงรวมๆกัน 392,000 ล้านดอลลาร์ โดยกรณีของอีลอน มัสก์ จุกหนักเป็นพิเศษเพราะมีพฤติกรรมปากกล้า และในปีนี้ เขายังตัดสินใจทุ่มซื้อกิจการบริษัททวิตเตอร์ สื่อโซเชียลยอดนิยมด้วย
อย่างไรก็ตาม ปี 2022 ก็ใช่ว่าจะโหดร้ายกับมหาเศรษฐีทุกคน นายโกตัม อาดานี มหาเศรษฐีชาวอินเดีย เจ้าพ่อหลากอุตสาหกรรมและค้าปลีก สามารถทำรายได้จนรวยแซงหน้านายบิล เกตส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ รวมทั้งนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุน เจ้าของบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ในดัชนีความมั่งคั่ง
ขณะที่บางตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในระดับโลก เช่น ตระกูลค็อค (Koch) จากสหรัฐอเมริกาที่ทำธุรกิจหลากสาขา และตระกูลมาร์ (Mars) จากสหรัฐเช่นกัน ผลิตทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ ต่างก็ทำรายได้เพิ่มมากขึ้นในปีนี้
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการซื้อขายในตลาดหุ้นที่เบาบางในปี 2022 ถือเป็นการวัดความสามารถของบรรดาเศรษฐีเหล่านี้ว่าใครคือตัวจริง และมูลค่าทรัพย์สินที่สูญไปก็ไม่ใช่ความผิดพลาดของใครนอกจากตัวของพวกเขาเอง ยกเว้นกรณีของบรรดามหาเศรษฐีชาวรัสเซียที่สูญความมั่งคั่งเกือบ 50,000 ล้านดอลลาร์เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่ประกาศใช้กับรัสเซียกรณีเปิดฉากรุกรานยูเครน รวมทั้งเศรษฐีจีนที่ไม่เพียงได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ ล๊อกดาวน์เมือง ภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ( Zero-COVID) แต่ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากมาตรการภาครัฐที่ต้องการเดินหน้าจัดระเบียบการค้าและธุรกิจภายในประเทศด้วย