เกียวโดนิวส์ สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานวานนี้ (11 ม.ค.) ระบุ บริษัทยูนิโคล่ (Uniqlo) ในเครือ “ฟาสต์ รีเทลลิง” (Fast Retailing) ยักษ์ใหญ่บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นลำลองของญี่ปุ่น ประกาศจะ ปรับขึ้นเงินเดือน ประจำปีให้แก่พนักงานใน ญี่ปุ่น โดยจะปรับในอัตราสูงสุดถึง 40% เริ่มตั้งแต่งวดเดือนม.ค. 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เป้าหมายก็เพื่อเป็นการให้รางวัลเป็นขวัญกำลังใจแก่พนักงานยูนิโคล่ในญี่ปุ่นที่ค่าตอบแทนยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่ทะยานสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของบริษัท
แถลงการณ์โดยฟาสต์ รีเทลลิง ระบุว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้สอดคล้องกับบริษัทขนาดใหญ่รายอื่นๆของญี่ปุ่นที่พากันปรับอัตราค่าจ้างให้แก่พนักงานท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น และทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคหดลดลง
การปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานยูนิโคล่ครั้งนี้ครอบคลุมพนักงานที่ทำงานเต็มเวลาจำนวน 8,400 คน ซึ่งหากทำสำเร็จตามแผนแล้ว จะทำให้ฟาสต์ รีเทลลิง มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นราวๆ 15%
สำหรับ รายละเอียดการขึ้นเงินเดือนของพนักงานยูนิโคล่ในญี่ปุ่น มีดังนี้
รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ถีบตัวขึ้นสูงไปล่วงหน้าแล้ว นักวิเคราะห์คาดหมายว่า การขยับตัวของฟาสต์ รีเทลลิงในเรื่องนี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเจรจาเรื่องค่าจ้างประจำปีระหว่างฝ่ายบริหารและลูกจ้างของบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น ที่จะมีขึ้นในทุกช่วงฤดูใบไม้ผลิ
นายฮิโระคาสุ มัตสุโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น แสดงความยินดีกับการตัดสินใจของฟาสต์ รีเทลลิง บริษัทแม่ของยูนิโคล่ในการขึ้นเงินเดือนพนักงานครั้งนี้ และเขาแสดงความหวังว่า บริษัทอื่นๆ จะดำเนินการเช่นเดียวกับยูนิโคล่ด้วยอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากยูนิโคล่แล้ว ในเดือนมกราคมนี้ ยังมีบริษัทใหญ่อีกรายของญี่ปุ่น คือบริษัทแคนนอน ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูป ที่ประกาศปรับฐานเงินเดือนให้พนักงานทุกคนรายละ 7,000 เยนต่อเดือน ขณะที่บริษัทซันโตรี โฮลดิงส์ และซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ก็กำลังพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเช่นกัน
สำหรับยูนิโคล่เอง ก่อนหน้านี้ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา (2565) ได้มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างให้กับลูกจ้างชั่วคราวไปแล้ว โดยขึ้นเงินให้เฉลี่ยประมาณ 20% สำหรับค่าจ้างที่คิดเป็นรายชั่วโมง
ทั้งนี้ ผลประกอบการของฟาสต์ รีเทลลิง ทำกำไรสุทธิ 273,340 ล้านเยนในปีการเงินที่ผ่านมา (ซึ่งสิ้นสุด ณ สิงหาคม 2565) เป็นการทำกำไรเพิ่มขึ้นถึง 60.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปัจจัยหนุนหลักมาจากยอดขายในตลาดต่างประเทศ ส่วนกำไรจากการดำเนินงานและยอดขายอยู่ที่ 297,330 ล้านเยนและ 2.3 ล้านล้านเยน ตามลำดับ นับเป็นสถิติใหม่ที่สูงทั้งคู่