ราคาทองปี 66 จ่อพุ่งเหนือ 2,000 ดอลล์ หากเฟดยุติวงจรขึ้นดอกเบี้ยตามคาด

17 ม.ค. 2566 | 08:56 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2566 | 16:49 น.

นักวิเคราะห์คาดว่า ราคาทองคำโลกจะได้แรงหนุนจากการที่เฟด มีแนวโน้มชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอาจจะยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ 


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิง ผลสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ ที่คาดการณ์ว่า ราคาทองคำ จะพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ในปีนี้ (2566) แม้จะเผชิญกับความผันผวนเล็กน้อย

ทั้งนี้ คาดว่าราคาทองคำโลกจะได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอาจจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ 

ปัจจุบัน ราคาทองสปอตพุ่งขึ้นเหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือทะยานขึ้นราว 18% นับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. 2565 เนื่องจากแรงกดดันของเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะผ่อนคันเร่งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ในปี 2565 ที่ผ่านมา การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วได้ฉุดราคาทองทรุดตัวลงอย่างหนัก โดยในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ราคาทองดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดที่ 1,613.60 ดอลลาร์ จากระดับสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนมี.ค.ที่ 2,069.89 ดอลลาร์

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นด้วย ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้ทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ

นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา ให้ความเห็นว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะเป็น "แรงส่ง" ที่สำคัญต่อราคาทองคำ โดยจะช่วยหนุนราคาทองทะยานขึ้นเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ในปีนี้

ขณะที่นายนิเทช ซาห์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิสดอมทรี (WisdomTree) กล่าวว่า หากไม่มีแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ก็เชื่อว่านักลงทุนก็จะเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะหนุนราคาทองให้ทะยานขึ้นเหนือระดับ 2,100 ดอลลาร์/ออนซ์ภายในสิ้นปี 2566 ได้ไม่ยาก

"โดยปกติแล้ว ทองถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนจะซื้อเก็บไว้เพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง ความเสี่ยงที่ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินที่คุมเข้มจนเกินไปและทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้น เป็นหนึ่งในแรงจูงใจของการเข้าซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง" นายซาห์กล่าว

ข้อมูลจาก สภาทองคำโลก (WGC) ระบุว่า นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ จะซื้อทองคำเข้าสู่ระบบทุนสำรองเพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่เข้าซื้อไปแล้วในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นการเข้าซื้อจำนวนมากกว่าปีใด ๆ ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่นักวิเคราะห์จากธนาคารเอเอ็นแซดเชื่อมั่นว่า ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญของคำของนักลงทุนรายย่อยจะยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลก

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์ของเอเอ็นแซดมองว่า หากราคาทองร่วงหลุดจากกรอบปัจจุบันที่ระดับ 1,870-1,900 ดอลลาร์ไปได้ ก็คาดว่าราคาอาจจะดิ่งลงไปต่ำกว่าระดับ 1,800 ดอลลาร์ โดยอาจจะดิ่งลึกลงไปถึง 1,730 ดอลลาร์