บรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็น “สัญลักษณ์แห่งวันวาเลนไทน์” หรือ "วันแห่งความรัก" ไม่ว่าจะเป็นรูปกามเทพ“คิวปิด” ดอกกุหลาบ รูปหัวใจดวงน้อยช็อกโกแลต หรือแหวนคู่แทนใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนมี ความหมาย หากจะมอบให้ใคร ต้องรู้สตอรี่ที่มากันสักหน่อย นอกจากจะสร้างความประทับใจเพิ่มเติมได้แล้ว ยังสื่อให้ผู้รับได้รู้ว่าของขวัญชิ้นนี้มีความหมายมากมายเพียงใด
เทพคิวปิด
เริ่มด้วยของขวัญที่มีสัญลักษณ์รูปกามเทพคิวปิด (Cupid) โดยปกติจะเห็นเป็นรูปเทพตัวน้อยมีปีกสีขาว ผมหยักศก แก้มยุ้ย ถือคันธนูและลูกศร เตรียมยิงใส่ให้คนรักกัน เป็นที่มาของคำว่า “ศรรักปักอก” สำหรับคนมีความรักหรือตกหลุมรัก
ความจริงเทพคิวปิดไม่ใช่เด็กน้อย แต่เป็นเทพหนุ่มรูปงาม เรื่องราวความรักของเขากับนางไซคี หญิงงามเลอโฉมที่เป็นมนุษย์ อันที่จริงเป็นความรักที่มีทั้งสุขและทุกข์ มีอุปสรรคเป็นระยะๆ แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยดี ปิดฉากแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งด้วยบทเรียนความรักที่ว่า
ที่เป็นเช่นนั้นมีเรื่องราวว่า เทพคิวปิด หรือ อีรอส (Eros) บุตรชายของเทพีวีนัส (Venus) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความงามและความรัก เขามีธนูกับลูกศรกามเทพเป็นของวิเศษคู่กาย ไม่ว่ามนุษย์หรือเทพเจ้าที่ถูกยิงด้วยลูกศรนี้ จะเปี่ยมด้วยความปรารถนาซึ่งควบคุมไม่ได้ วันหนึ่งเทพีวีนัสให้คิวปิด ไปแผลงศรยิงนางไซคี (Psyche) มนุษย์สาวชาวโลกผู้เลอโฉมที่ทำให้ใครๆ ต่างหลงใหลคลั่งไคล้ จนขนาดที่ลืมถวายบูชาให้แก่เทพวีนัส นางหวังให้ลูกศรของคิวปิดนำพานางไซคีไปหลงรักชายอัปลักษณ์ แต่คิวปิดเมื่อได้ไปเห็นนางไซคี กลับตะลึงในความงามของนางจนเผลอทำลูกศรใส่ตัวเอง ทำให้ทั้งคู่ตกหลุมรักกันและกัน
ทุกครั้งที่คิวปิดมาหาไซคีในยามค่ำคืน เขาจะไม่ให้เธอเห็นหน้าตา และพอรุ่งเช้าเขาก็จะหายไป เวลาผ่านไป ทั้งคู่ครองรักกันดีกระทั่งพี่สาวของไซคีมาพูดจายุแยงให้ไซคีลองส่องไฟดูหน้าสามี ว่าเป็นปีศาจร้ายหรือไม่ เหตุใดต้องปิดบังอำพราง
คืนนั้น ขณะคิวปิดหลับใหล ไซคีถือตะเกียงน้ำมันมาส่องดูหน้าชายคนรัก อีกมือหนึ่งถือมีด เผื่อว่าหากเป็นปีศาจร้าย นางก็จะใช้มีดแทง แต่ปรากฏว่าแสงสว่างของตะเกียงทำให้เห็นคิวปิดเป็นหนุ่มรูปงาม ขณะที่ไซคีกำลังเคลิบเคลิ้มมองนั้น นางได้เผลอทำน้ำมันร้อนจากตะเกียงหยดใส่ไหล่ของคิวปิด เขาสะดุ้งตื่นและกล่าวว่า “ความรักมิอาจอยู่ร่วมกับความหวาดระแวง” ก่อนที่จะบินจากไปอย่างเศร้าสร้อย
ไซคีได้รับคำแนะนำให้ไปบูชาเทพีวีนัส เพราะเป็นมารดาของคิวปิด เผื่อว่าเธอจะมีโอกาสได้พบกับเขาอีก แต่เทพีวีนัสที่ไม่พอใจไซคีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กลับกลั่นแกล้งเธอด้วยการสั่งให้ไซคีไปทำภารกิจสามอย่างให้สำเร็จ เธอถึงจะมอบสิ่งที่ไซคีขอ แต่สามภารกิจดังกล่าวเป็นสิ่งยากเกินกว่าที่มนุษย์ทั่วไปจะทำได้ หากแต่ด้วยความกล้าหาญและความเพียรพยายามของไซคีที่ต้องการจะพบคนรัก เธอจึงได้รับความช่วยเหลือให้ทำภารกิจได้ลุล่วง (ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือจากคิวปิดที่แอบมาช่วยเธอด้วย)
เมื่อรักแท้ชนะทุกสิ่ง ทั้งคู่ก็ได้ครองรักกัน ไซคียังได้รับน้ำอมฤตที่ทำให้เธอเป็นอมตะ และได้กลายเป็นเทพองค์หนึ่งด้วย ทั้งคู่ครองรักกัน ซึ่งต่อมาไซคีได้ให้กำเนิดบุตรสาว ที่ทั้งคู่ตั้งชื่อให้เธอว่า เพลเชอร์ (Pleasure) ที่แปลว่า “ความสุข” นั่นเอง
ดอกกุหลาบแดง
กุหลาบแดง เป็นดอกไม้ยอดฮิตในเทศกาลวาเลนไทน์ โดยในตำนานเทพเจ้ากรีกและโรมัน “ดอกกุหลาบ” ถูกเชื่อมโยงกับ “วีนัส” เทพีแห่งความงามและความรัก หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “อโฟรไดท์” (Aphrodite)
ในตำนานเทพของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้สีแดงเข้มหรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานก็เล่าว่าดอกกุหลาบเกิดจากเลือดของอโฟรไดท์เองที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม
นอกจากนี้ สีของกุหลาบ ยังบ่งบอกรูปแบบความรักที่หลากหลาย เช่น สีแดงหรือชมพู หมายความถึงความรักโรแมนติก สีเหลือง คือรักแบบมิตรภาพ ขณะที่สีม่วง คือรักแรกพบ และสีขาว แสดงถึงความรักที่แสนบริสุทธิ์ เป็นต้น
ธรรมเนียมการมอบดอกกุหลาบให้แก่กันในวันวาเลนไทน์นั้น เพิ่งเริ่มขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 นี้เอง โดยเกิดขึ้นในช่วงที่พระเจ้าคาร์ลที่ 12 แห่งสวีเดน เดินทางไปยังอาณาจักรเปอร์เซียซึ่งเป็นที่ที่พระองค์ได้พบกับศิลปะแนวใหม่ที่เรียกว่า “ภาษาของดอกไม้” ซึ่งเป็นการใช้ดอกไม้แทนคำพูดและความรู้สึกของผู้ให้ สู่ผู้รับนั่นเอง
ช็อกโกแลต
ขนมรสหวานขมกลมกล่อมนี้ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการ “บอกรักและความปรารถนาดี” ที่นิยมมอบให้แก่กันในวันวาเลนไทน์ ซึ่งปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดมอบให้เฉพาะคู่รักหรือคนรัก แต่ยังนิยมมอบให้มิตรสหาย และสมาชิกในครอบครัวด้วย โดยช็อกโกแลตนั้น มีประวัติมายาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 สมัยอาณาจักรโรมันเรืองรอง เนื่องจากในยุคดังกล่าวจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ชายชาวโรมันสมรส เพราะต้องการเกณฑ์ผู้ชายไปสู้รบกับข้าศึกโดยไม่ต้องมีห่วงกังวลใด ๆ ทั้งยังมีโทษ หากใครฝ่าฝืนจะต้องโทษประหารชีวิต ดังนั้น เมื่อใครมีความรักก็ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ การจะพบเจอกันก็เป็นเรื่องยากลำบาก ดังนั้น จึงนิยมมอบของขวัญแทนใจเพื่อสื่อถึงความรักหวานซึ้งที่มีให้กัน ซึ่งก็คือ ช็อกโกแลต
เรื่องราวข้างต้นนี้ ยังสอดคล้องกับกำเนิดวันเวาเลนไทน์ ซึ่งตำนานเล่าว่า แม้จะมีคำสั่งห้าม แต่ชายหญิงหลายคู่ก็ยังคงลักลอบวิวาห์กัน โดยมีนักบุญที่ชื่อว่า “วาเลนไทน์” ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงานให้ แต่เมื่อภายหลังจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 ทราบเรื่องการฝ่าฝืนนี้ จึงมีคำสั่งประหารชีวิตนักบุญวาเลนไทน์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อันเป็นที่มาของวันรำลึกถึงนักบุญวาเลนไทน์ ก่อนจะกลายมาเป็นวันแห่งความรักในที่สุด
นอกจากนี้ ในโบราณกาล ช็อกโกแลตยังเป็นสัญลักษณ์ของอาหารที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์รัก โดยมีเรื่องเล่าขานว่า “มองเตชูมา” นักรบผู้พิชิตแห่งสเปน มักจะดื่มช็อกโกแลตเป็นประจำเสมอเพื่อให้ช่วยกระตุ้นอารมณ์รักก่อนไปหาเหล่าสาว ๆ ในฮาเร็มของเขา
ต่อมางานวิจัยในยุคสมัยปัจจุบัน ยังพบว่า สารแฟนิลเอทิลามีน (Phenylethylamine-PEA) ในช็อกโกแลต สามารถสร้างสารสื่อประสาทที่ช่วยในการลดความเครียด ถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การรับประทานช็อกโกแลตเกิดความรู้สึก feel good ทำให้ตื่นเต้นและรู้สึกดี อีกทั้งยังเพิ่มพลังทางเพศด้วย
เนื่องจากกลิ่นของช็อกโกแลตมีผลต่อปฏิกิริยาความรู้สึกอยากรัก กลิ่นดังกล่าวจะเข้าไปกระตุ้นประสาทรับกลิ่นและความรู้สึกในสมอง จากนั้นร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนออกมากระตุ้นความต้องการทางเพศ ที่สำคัญคือ ช็อกโกแลตมีส่วนผสมของ Theobromine และ Alkaloid ซึ่งมีคุณสมบัติก่อให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องของอารมณ์ทางเพศมากเป็นพิเศษ
รูปหัวใจ
“หัวใจ” เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อแทนความรัก เพราะเชื่อกันว่า หัวใจเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้คนเราตกหลุมรักนั่นเอง ดังนั้น การมอบของขวัญที่มีรูปหัวใจดวงน้อย ๆ จึงบ่งบอกถึงความรักของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับในอีกรูปแบบหนึ่ง ( ณ จุดนี้ เสียงเพลง “เอาไปเลย” ของวงไมโครแห่งยุค 90’s ลอยแว่วมาเลยทีเดียว)
แหวนคู่
เหตุใดคนรักกันจึงต้องหมายหมั้นกันด้วยแหวน แน่นอนว่านี่คือสัญลักษณ์แห่งความรักที่มุ่งหวังครองคู่กันตลอดไป ทั้งยังเป็นคำมั่นสัญญาว่า หัวใจของฉันมอบให้ไว้ในมือเธอแล้ว
แหวนจึงเป็นตัวแทนแห่งความรักและคำมั่นสัญญา เป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมทุกข์ร่วมสุข และความซื่อสัตย์ที่มีต่อกัน การมอบแหวนให้กันในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ โดยเฉพาะที่นิ้วนางข้างซ้ายนั้น แม้ไม่ใช่คู่สามีภรรยา ก็เป็นการบ่งบอกสถานะว่า ผู้ให้และผู้รับนั้น กำลังคบหากันอยู่
แถมความหมายให้อีกนิดว่า เหตุที่สวมแหวนนิ้วนางข้างซ้ายนั้น เพราะเชื่อกันว่า นิ้วนางข้างซ้ายเป็นที่ตั้งของเส้นเลือดแห่งความรัก เส้นเลือดดำที่นิ้วนางมือซ้ายนั้นเชื่อมต่อโดยตรงเข้ากับหัวใจที่อยู่ข้างซ้ายของร่างกายเช่นกัน โดยหัวใจเองก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
รู้ความหมายและที่มาที่ไป กันอย่างนี้แล้ว คงเลือกสรรสิ่งของแทนใจที่จะมอบให้กันในวันวาเลนไทน์นี้ได้ง่ายขึ้น แล้วอย่าลืมกระซิบบอกความหมายให้คนสำคัญคนนั้นของคุณได้รับรู้ด้วยนะคะ