รู้จักพายุ “ทอร์นาโด” มหันตภัยพายุหมุนที่รุนแรงและอันตรายมากที่สุด

02 เม.ย. 2566 | 19:53 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2566 | 23:27 น.

ทอร์นาโด ( tornado )ในภาษาอังกฤษนั้น เชื่อว่าแผลงมาจากคำภาษาสเปน “tronada” ที่แปลว่า “พายุฝนฟ้าคะนอง” หรือ “หมุนเป็นเกลียว” ด้วยลักษณะการหมุนของพายุที่หมุนเป็นเกลียวคล้ายงวงช้าง  ทำให้ถูกเรียกว่า ลมงวงช้าง อีกชื่อหนึ่ง

 

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างน้อย 8 รัฐใน สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศ กำลังเผชิญกับ ภัยธรรมชาติ ระดับรุนแรงอีกครั้ง นั่นคือการเกิด พายุทอร์นาโด โดยสำนักงานบริการสภาพอากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอกาสที่จะเกิดพายุทอร์นาโดในอีกหลายรัฐ จากเหนือสุดที่ไอโอวาไปจนถึงรัฐทางใต้คือมิสซิสซิปปี้ โดยที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากพายุหมุนดังกล่าวแล้วมากกว่า 20 ราย และอาคารบ้านเรือนเสียหายเป็นวงกว้าง ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักพายุหมุนชนิดนี้กัน 

เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า พายุที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของโลกมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับขนาด ความรุนแรง และลักษณะของการเกิด สามารถแบ่งออกได้เป็น พายุหมุนเขตร้อน พายุทอร์นาโด และ พายุฟ้าคะนอง

ที่เราคุ้นชินเพราะพบเจอได้บ่อยกว่า คือ พายุฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นพายุที่เกิดจากเมฆฝนฟ้าคะนอง สามารถเกิดได้ในทุกบริเวณที่มีอากาศร้อน และมีความชื้นมากพอสมควร จึงเป็นลักษณะสำคัญของอากาศเขตร้อน โดยมากมักจะมีทั้งลมแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฝนหนักเกิดขึ้นพร้อมกัน ความแรงของลมสามารถทำลายบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง และต้นไม้ให้เสียหายได้

ถัดมาก็เป็น พายุหมุนเขตร้อน เป็นพายุหมุนที่เกิดในทะเลหรือมหาสมุทรในโซนร้อน โดยมีชื่อเรียกตามแหล่งที่เกิด เช่น

  • พายุดีเปรสชัน พายุโซนร้อน พายุไต้ฝุ่น เหล่านี้เป็นพายุที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้
  • ส่วนพายุเฮอริเคน เป็นพายุที่เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติก
  • ขณะที่พายุไซโคลน เป็นพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย

พายุหมุนเหล่านี้มีความแรงมาก โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุ 50 กม./ชม. ขึ้นไป และยังสามารถมีความเร็วลมรอบจุดศูนย์กลางพายุได้มากกว่า 250 กม./ชม. สำหรับพายุไต้ฝุ่น พายุเฮอริเคน และพายุไซโคลน

“ทอร์นาโด” ถือเป็นพายุหมุนที่มีความรุนแรงที่สุดและอันตรายมากที่สุด

แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายแรงเท่า “พายุทอร์นาโด” เพราะในบรรดาพายุหมุนทั้งหลายนั้น “ทอร์นาโด” ถือเป็นพายุหมุนที่มีความรุนแรงที่สุดและอันตรายมากที่สุด โดยลมพัดรอบศูนย์กลางอาจมีความเร็วถึง 800 กม./ชม. และมีลักษณะเด่นชัดคือ เป็นพายุที่ก่อตัวจากก้อนเมฆ และย้อยลงมาบนผืนดินในลักษณะเป็นกรวยเกลียว ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50 – 500 เมตร

แม้ว่าพายุชนิดนี้จะมีอายุไม่นานคือ เฉลี่ยประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง แต่มีอำนาจการทำลายสูง สามารถกวาดยกบ้านเรือน และแม้กระทั่งรถยนต์ ให้ขึ้นไปหมุนวนอยู่ในอากาศ พายุทอร์นาโดนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และกล่าวได้ว่าสหรัฐต้องเผชิญกับการเกิดพายุทอร์นาโดทุก ๆ ปี

ลักษณะและการเกิด พายุทอร์นาโด

ลักษณะของพายุทอร์นาโดเป็นทรงกรวยขนาดใหญ่ มองไกล ๆ จะดูคล้ายงวงช้างที่สูงขึ้นไปในอากาศ ทอร์นาโดเป็นพายุฝนฟ้าคะนองที่ถือว่ามีความอันตรายและรุนแรงมาก การที่กระแสลมที่มีระดับความเร็ว หรือทิศทางแตกต่างกันพัดมาปะทะกัน จะทำให้เกิดการหมุนวนของอากาศ จากนั้นจะม้วนรวมกันและเกิดการขยายขนาด กลายเป็นลมที่หมุนเป็นทรงกระบอกในแนวนอน

และเมื่ออากาศผิวหน้าดินในบริเวณนั้นได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้มันอุ่นขึ้นจนเกิดการขยายตัวและลอยตัวสูง ดันให้ลมหมุนทรงกระบอกในแนวนอน เปลี่ยนเป็นการหมุนวนในแนวตั้ง เกิดเป็นทอร์นาโดซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น ไปในทิศทางของพายุฝนฟ้าคะนอง

ความเสียหายเกิดขึ้นแบบ "ราบเป็นหน้ากลอง" ในแนวพายุพัดผ่าน

การที่พายุทอร์นาโดเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศของสหรัฐเอื้อต่อการเกิดพายุชนิดนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ จึงเอื้อต่อการปะทะกันของลมร้อนและลมเย็นในบริเวณที่ราบ ทำให้พายุที่ก่อตัวส่วนมากมีขนาดใหญ่และเกิดได้บ่อยครั้ง โดยพายุทอร์นาโดในสหรัฐอเมริกา เกิดจากลมหนาวที่พัดมาจากทิศตะวันตกของประเทศแคนาดา พัดพาเอาความหนาวและแห้งแล้งลงมา ประกอบกับลมร้อนจากอ่าวเม็กซิโกที่พัดมาจากด้านใต้ของทวีป ซึ่งลมทั้งสองนี้มักมาปะทะกันที่บริเวณตอนกลางของสหรัฐ ทั้งนี้ บริเวณที่ก่อให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงของอากาศและทำให้พายุทอร์นาโดก่อตัวขึ้น จะเรียกว่า “ช่องทางทอร์นาโด (Tornado Alley)”

ช่องทางทอร์นาโดนี้ อยู่บริเวณสหรัฐอเมริกาตอนกลาง ครอบคลุมบริเวณรัฐด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ รัฐดาโกต้า (Dakota), รัฐเนแบรสกา (Nebraska), รัฐแคนซัส(Kansas), รัฐโอกลาโฮมา (Oklahoma) ตอนเหนือของเท็กซัส (Texas) และด้านตะวันออกของรัฐโคโลราโด (Colorado) เราจึงมักได้ยินข่าวการเกิดพายุทอร์นาโดจากรัฐเหล่านี้บ่อยครั้ง เพราะเป็นช่องทางทอร์นาโด

นอกจากนี้แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พายุทอร์นาโดมักจะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ก็คือ สหรัฐอเมริกายังไม่มีเทือกเขาที่วางแนวขวางกั้นทางลม ซึ่งหากเทียบกับทวีปยุโรปหรือทวีปเอเชียที่มีเทือกเขาวางตัวในแนวตะวันตกและตะวันออกแล้ว เทือกเขาเหล่านี้ช่วยกั้นขวางทางลมได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ทวีปดังกล่าวไม่เกิดพายุทอร์นาโดรุนแรงเท่ากับในสหรัฐอเมริกา

ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ

ในเอเชียก็มีทอร์นาโด

ในภูมิภาคเอเชีย เคยเกิดพายุทอร์นาโดในประเทศญี่ปุ่นและจีนมาแล้วเช่นกัน โดยข้อมูลของสำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ญี่ปุ่นเผชิญพายุหมุนทอร์นาโด 55 ลูกต่อปี และราว 40% ของพายุหมุนทอร์นาโดเหล่านี้เกิดขึ้นในเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ่งมี 2 เหตุผล คือ 1) สภาพอากาศที่ทำให้เกิดพายุหมุนทอร์นาโดนั้นมักจะถูกกระตุ้นโดยพายุไต้ฝุ่น และ 2) คือมวลอากาศเย็นที่เคลื่อนลงมาจากไซบีเรียในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน

กระแสอากาศที่ลอยขึ้นคือส่วนประกอบสำคัญยิ่งสำหรับการเกิดพายุหมุนทอร์นาโด แต่มีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญเช่นกัน นั่นคือลมในแนวราบที่พัดเข้ามาใกล้พื้นดิน ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ราบของภูมิภาคคันโตของญี่ปุ่น ซึ่งเกิดพายุหมุนทอร์นาโดอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากลมทะเลที่มีความชื้นซึ่งพัดมาจากนอกชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของจังหวัดชิบะและอิบารากิหรือจากอ่าวโตเกียว มาปะทะกับลมเย็นแห้งที่เคลื่อนจากภูเขามายังฝั่งตะวันตกของพื้นที่ราบภูมิภาคคันโต การปะทะทำให้เกิดกระแสลมที่หมุนวนที่ส่งผลให้เกิดพายุหมุนทอร์นาโด

ทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญทอร์นาโด

สิ่งสำคัญที่สุดคือการอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย เช่น อาคารที่มั่นคง ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะการหนีภัยจากพายุทอร์นาโดนั้น หมายความว่า คุณมีเวลาแค่ไม่กี่นาทีหรือในบางกรณีแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น และหากคิดว่ามีเวลาหนีไม่ทัน และต้องปักหลักหลบพายุที่บ้าน คุณต้องปิดม่านและประตูกันพายุ สิ่งนี้จะช่วยปกป้องกระจกหน้าต่างและป้องกันลมไม่ให้พัดเข้ามา และควรอยู่ห่างจากหน้าต่างและปกป้องศีรษะของคุณเอาไว้ด้วย จากสิ่งที่อาจปลิวมากระทบกระแทก

ที่สำคัญคือพายุหมุนทอร์นาโดอาจพัดพาหลังคาบ้านไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรเลี่ยงการไปอยู่ชั้นบน ๆ ของบ้าน การอยู่ชั้นหนึ่งนั้นปลอดภัยกว่าชั้นสองและหากว่าคุณมีชั้นใต้ดิน นั่นคือสถานที่ปลอดภัยที่สุดในบ้าน แต่หากว่าไม่มีชั้นใต้ดิน ให้ไปยังห้องสุขาหรือห้องน้ำที่แทบไม่มีช่องเปิด เพื่อที่ลมจะได้ไม่พัดเข้ามา

หากอยู่ที่สำนักงาน โรงเรียน สถานที่สาธารณะหรือร้านค้า สถานที่เหล่านี้ควรเตรียมอุปกรณ์ป้องกันศีรษะเอาไว้เสมอ หากคุณอยู่ในอาคารที่พายุหมุนทอร์นาโดพัดถล่ม ให้อพยพไปยังชั้นใต้ดินหรือบันไดฉุกเฉินหรือชานบันไดภายในอาคารซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีลมเข้ามา

และถ้าหากคุณกำลังขับรถอยู่ ให้หยุดรถตรงที่จอดที่ไม่ขวางการจราจร และไปยังอาคารที่มั่นคงแข็งแรงโดยทันที เช่น อาคารที่สร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็ก

แต่หากอยู่ภายนอกตัวอาคาร คุณจะไม่สามารถหนีพายุหมุนทอร์นาโดได้ด้วยการเดิน เนื่องจากพายุหมุนทอร์นาโดเคลื่อนเร็วเท่ากับรถยนต์วิ่ง ดังนั้น จึงควรอยู่ให้ห่างเสาไฟฟ้าหรือต้นไม้ที่อาจล้มลงเพราะลมแรง และให้เข้าไปในอาคารที่แข็งแรงที่สุดซึ่งสามารถหาได้ใกล้ ๆ

อัพเดทสถานการณ์ทอร์นาโดล่าสุดในสหรัฐ

เหตุการณ์พายุทอร์นาโดกว่า 60 ลูก ซัดถล่มภูมิภาคมิดเวสต์ของสหรัฐอย่างรุนแรงเริ่มตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (31 มี.ค.) สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในพื้นที่อย่างน้อย 8 รัฐ โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า  20 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนหลายสิบคน ส่วนใหญ่เกิดจากอาคารบ้านเรือนพังถล่มใส่

สภาพอากาศยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงเย็นของวันเสาร์ (1 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น) ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ความรุนแรงของพายุส่งผลให้อาคารบ้านเรือน ร้านค้า และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ พังเสียหายราบ โดยรัฐอาร์คันซอได้รับความเสียหายหนัก ประชาชนกว่า 34,000 ราย ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้

นายแฟรงค์ สก็อตต์ จูเนียร์ นายกเทศมนตรีเมืองลิตเติ้ล ร็อค รัฐอาร์คันซอ กล่าวว่าเฉพาะในเมืองนี้แห่งเดียว มีบ้านเรือนเสียหายมากกว่า 2,600 หลัง ประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 2,100 ราย

ด้านนางเมเดลิน โรเบิร์ตส์ โฆษกพูลาสกีเคาน์ตี ของเมืองลิตเติ้ล ร็อค กล่าวว่า มีประชาชนเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วมากกว่า 50 ราย เบื้องต้นมีรายงานระบุว่า พบผู้เสียชีวิตในรัฐเทนเนสซี 7 ราย อาร์คันซอ 5 ราย อิลลินอยส์ 4 ราย อินเดียนา 3 ราย แอละบามา 1 ราย และมิสซิสซิปปี 1 ราย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา/เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอม/เว็บไซต์ NHK