นายทันการาจู ซุปเปียห์ ชายชาวสิงคโปร์วัย 46 ปี ถูกศาลพิพากษาลงโทษด้วย การประหารชีวิต ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ.2561)ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดเพื่อลักลอบ ขนยาเสพติด และ มีกัญชาในครอบครอง จำนวนกว่า 1 กิโลกรัม โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาคงคำตัดสินของศาลชั้นต้นให้ลงโทษด้วย การแขวนคอ ซึ่งมีกำหนดเกิดขึ้นในวันพุธหน้า (3 พ.ค.) นี้
แต่สมาชิกในครอบครัวของเขา ได้ออกมาร้องขอความกรุณาจากรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้มีการเปิดคดีพิจารณาใหม่อีกครั้งด้วย โดยลีลาวาธี ซุปเปียห์ ผู้เป็นน้องสาวของผู้ต้องหารายนี้ ระบุระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ (23 เม.ย.) ว่า
“เราไม่คิดว่าพี่ชายของดิฉันได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ... ดิฉันมีความเชื่อว่า ท่านประธานาธิบดีจะได้อ่านคำร้องทุกข์ของเรา” และว่า “ตั้งแต่เด็ก เขา(ทันการาจู) เป็นคนที่มีจิตใจดีและทุกคนก็ชอบเขา และเขาก็ไม่เคยทำเรื่องเลวร้ายให้ใคร ... เขาเสียสละทุกอย่างเพื่อช่วยครอบครัวของเขา”
สื่อท้องถิ่นระบุว่า การลงโทษประหารชีวิตนายทันการาจู จะเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 6 เดือนของสิงคโปร์
เมื่อพิจารณาถึงการลงโทษนายทันการาจู เขาถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาสมรู้ร่วมคิด กระทำการลักลอบขนกัญชาปริมาณ 1,017.9 กรัมเข้าประเทศสิงคโปร์ ซึ่งภายใต้กฎหมายอันเข้มงวดเกี่ยวกับคดียาเสพติดของสิงคโปร์ ปริมาณดังกล่าวนับว่าสูงกว่าเกณฑ์ที่ต้องลงโทษด้วยการประหารชีวิตถึง 2 เท่า
ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่อยู่ใกล้ ๆ กับสิงคโปร์ รัฐบาลได้ประกาศให้มีการใช้กัญชาเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายไปแล้ว และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์ก็กำลังพยายามกดดันให้สิงคโปร์ยกเลิกการลงโทษประหารชีวิตด้วย
ครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อน ๆ ของนายทันการาจู ร่วมกันลงชื่อในเอกสารร้องอุทธรณ์ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ และกลุ่มนักเคลื่อนไหวประกาศว่า พวกเขาจะนำส่งคำร้องทุกข์นี้ไปยังสำนักงานประธานาธิบดีเอง
ทั้งนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์และสมาชิกในครอบครัวของผู้ต้องหารายนี้ต่างกล่าวว่า มีช่องโหว่ในคดีนี้ และว่า นายทันการาจูไม่เคยแตะต้องยาเสพติดที่ว่าเลย รวมทั้งอ้างด้วยว่า ผู้ต้องหาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนโดยไม่มีที่ปรึกษาด้านกฎหมายร่วม และยังถูกปฏิเสธไม่ให้มีล่ามภาษาทมิฬระหว่างการบันทึกคำให้การครั้งแรกต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
อย่างไรก็ดี สำนักยาเสพติดกลาง (Central Narcotics Bureau) ของสิงคโปร์ระบุว่า นายทันการาจู “มีที่ปรึกษาทางกฎหมายร่วมช่วยเหลือตลอดเวลาที่มีการดำเนินคดี” และว่า ผู้พิพากษาพบว่า ประเด็นล่ามนั้นเป็นเรื่อง “ไม่น่าเชื่อถือ” เนื่องจาก ผู้ต้องหาให้การสารภาพและไม่ได้ร้องขอให้มีล่ามในการให้การใด ๆ เลย
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สิงคโปร์เริ่มกลับมาใช้วิธีการประหารชีวิตนักโทษอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2565 หลังหยุดพักไปกว่า 2 ปี โดยในปีที่ผ่านมา มีการประหารชีวิตนักโทษถึง 11 คน ซึ่งล้วนถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งสิ้น