แถลงการณ์เฟด “คำต่อคำ” ยันเศรษฐกิจสหรัฐ-ระบบแบงก์ แกร่งเกินคาด

21 ก.ย. 2566 | 01:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2566 | 01:59 น.

แถลงการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน ยันเศรษฐกิจสหรัฐและระบบธนาคารยังแข็งแกร่ง การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพตามเป้าหมายที่ 2% เป็นภารกิจสำคัญอันดับแรก แต่คาดจะทำได้ในปี 69 ส่วนเงินเฟ้อสหรัฐปีนี้ คาดจะลดลงสู่ระดับ 3.3%

 

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออก แถลงการณ์ ภายหลัง การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 20 ก.ย.ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า ข้อมูลที่เฟดได้รับเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่การจ้างงานชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงมีความแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงปรับตัวขึ้น

ระบบธนาคารสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น โดยภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อที่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเผชิญอยู่นั้นอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งขอบเขตของผลกระทบเหล่านี้ยังคงมีความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันคณะกรรมการ FOMC ยังคงให้ความสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก

คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ดันเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%

คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะยังคงประเมินข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมและแนวโน้มนโยบายการเงินในวันข้างหน้า

การทำให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพนั้น ถือเป็น “ภารกิจอันดับแรก” ของเฟด

ในการตัดสินใจว่า เฟดจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% หรือไม่นั้น คณะกรรมการฯ จะพิจารณาถึงการคุมเข้มนโยบายการเงินที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายครั้ง และพิจารณาถึงระยะเวลาที่นโยบายการเงินจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน

นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการประกาศในช่วงก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการฯ จะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ จะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวลล์ ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, ไมเคิล เอส บาร์, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ลิซา ดี คุก, ออสแทน ดี กูลส์บี, แพทริก ฮาร์เกอร์, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, นีล แคชคารี, เอเดรียนา ดี คุกเลอร์, โลรี เค โลแกน และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

"สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของเฟด คือความล้มเหลวในการทำให้เงินเฟ้อกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง" 

ย้ำเสถียรภาพเงินเฟ้อ คือภารกิจสำคัญอันดับแรก

"อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเคลื่อนไหวในระดับปานกลางนับตั้งแต่กลางปี 2565 และตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อพิจารณาจากการสำรวจเป็นวงกว้างในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และนักวิเคราะห์ รวมทั้งมาตรวัดต่าง ๆ ในตลาดการเงิน แต่ผมมองว่ากระบวนการที่เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืนนั้น อาจจะต้องใช้เวลาอีกนาน" นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันพุธ (20 ก.ย.)

ประธานเฟดย้ำว่า การทำให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพนั้น ถือเป็น “ภารกิจอันดับแรก” ของเฟด และหากเฟดไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ก็ อาจจะทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบร้ายแรงตามมา

"สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของเฟด คือความล้มเหลวในการทำให้เงินเฟ้อกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาเราเคยประสบกับสถานการณ์ดังกล่าวมาแล้ว หากเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ เงินเฟ้อก็จะกลับมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอนเป็นเวลานานขึ้น และปัญหานี้จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในท้ายที่สุด ซึ่งจะทำให้เฟดต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไข และใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินครั้งแล้วครั้งเล่า"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เฟดคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือซอฟต์แลนดิง จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหรือไม่ นายพาวเวลล์ตอบทันทีว่า "ไม่" ก่อนที่จะอธิบายเพิ่มเติมว่า "ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะซอฟต์แลนดิง แต่เส้นทางที่จะไปถึงจุดนั้นได้เริ่มแคบลงและใช้เวลานาน ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเฟด นี่จึงเป็นเหตุผลที่เฟดจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบระมัดระวัง

คาดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนสิ้นปี GDP โต 2.1%

ทั้งนี้ การให้สัมภาษณ์ของนายพาวเวลล์ มีขึ้นหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธ (20 ก.ย.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี โดยการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

คณะกรรมการ FOMC ยังได้เปิดเผยรายงานสรุปการคาดการณ์เศรษฐกิจ (Summary Economic Projections - SEP) และการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่กรอบ 5.50%-5.75% ภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งสู่ระดับ 5.1% ภายในช่วงสิ้นปี 2567 และแตะ 3.9% ภายในช่วงสิ้นปี 2568

ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจนั้น เฟดปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐสู่ระดับ 2.1% ในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 1.0% และ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่ระดับ 3.3% ภายในสิ้นปีนี้, แตะระดับ 2.5% ภายในสิ้นปี 2567 และแตะระดับ 2.2% ภายในสิ้นปี 2568 โดยเฟดคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ในปี 2569 ซึ่งช้ากว่าที่เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้