สภาผู้เเทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ลงมติเมื่อต้นสัปดาห์ ให้ นายเควิน แมคคาร์ธีย์ ประธานสภาผู้แทนฯ พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดเเย้งภายใน พรรครีพับลิกัน ที่รุนเเรงจนเกือบทำให้เกิดเหตุการณ์ ชัตดาวน์ (Government Shutdown หรือการที่หน่วยงานรัฐไม่มีงบประมาณเปิดดำเนินการ) เมื่อเร็วๆนี้
ผลโหวต 216 ต่อ 210 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ต.ค.) ทำให้นายเเมคคาร์ธีย์เป็นประธานสภาผู้เเทนราษฎรสหรัฐคนเเรกในประวัติศาสตร์ ที่ถูกลงมติให้พ้นจากตำแหน่ง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ มีตัวเเปรสำคัญเป็นกลุ่มการเมืองที่มีขนาดค่อนข้างเล็กในพรรครีพับลิกันเอง ที่แตกคอและลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ถอดถอนนายเเมคคาร์ธีย์ออกจากตำแหน่ง กลุ่มดังกล่าวนี้นำโดย สส.เเมตต์ เกตซ์ ซึ่งมีแนวความคิดขวาจัด เขาสังกัดพรรครีพับลิกันเช่นเดียวกับนายเเมคคาร์ธีย์ ข่าววงในระบุว่า เกตซ์ไม่พอใจที่เเมคคาร์ธีย์ไม่ตัดลดงบประมาณในระดับที่มากพอ เขาเดินหน้ายื่นญัตติให้มีการลงมติว่าจะถอดถอนแมคคาร์ธีย์ ออกจากตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (2 ต.ค.) ซึ่งในตอนนั้น แมคคาร์ธีย์ยังไม่รู้ตัวว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้เขาถึงกับหลุดจากตำแหน่ง โดยแมคคาร์ธีย์ ได้โพสต์ทางทวิตเตอร์(X) ว่า "จัดมาเลย" แสดงถึงความไม่กังวลใดๆ
ข่าวระบุว่า การถอดถอนประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐออกจากตำแหน่งได้นั้น ต้องอาศัยเสียงส่วนใหญ่ของ สส. ทั้งหมด 435 เสียง ซึ่งขณะนี้รีพับลิกันครอบครองอยู่ 221 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคเดโมแครตครองอยู่ 212 ที่นั่ง การที่ผลโหวตถอดถอนแมคคาร์ธีย์ออกจากตำแหน่งออกมา 216 ต่อ 210 หมายความว่า ในฟากรีพับลิกันนั้นมีงูเห่าแปรพักตร์อยู่ ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในเสียงที่โหวตให้แมคคาร์ธีย์เด้งออกคือเสียงของสส.เเมตต์ เกตซ์
ความขัดแย้งภายในพรรครีพับลิกันครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐสภาสหรัฐตกลงผ่านร่างกฎหมายงบประมาณระยะสั้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (1 ต.ค.) เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ “ชัตดาวน์” อย่างหวุดหวิด ไม่ให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐบางส่วน ต้องปิดทำการชั่วคราว แต่กฎหมายนี้จะจัดสรรงบประมาณให้รัฐบาลทำงานต่อไปได้จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้เท่านั้น และมีส่วนที่เป็นงบช่วยเหลือด้านภัยพิบัติมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ที่ปธน.โจ ไบเดน ร้องขอมา แต่ไม่มีงบประมาณสำหรับความช่วยเหลือให้แก่ยูเครน
เกตซ์ กล่าวถึงแผนการตัดงบประมาณรัฐบาล ที่แมคคาร์ธีย์เคยให้คำมั่นไว้กับสมาชิกรีพับลิกันสายแข็งว่า “เมื่อเดือนมกราคม ส.ส.แมคคาร์ธีย์ ยอมรับเงื่อนไขงบประมาณบางอย่างเพื่อให้ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ” และว่า “เราต้องการเปลี่ยนเรื่องเดียวในร่างงบประมาณ เขาได้ให้คำมั่นไว้แล้ว แต่เขากลับผิดคำสัญญา”
เมื่อขับแมคคาร์ธีย์พ้นตำแหน่งไปแล้ว ขณะนี้ นายแพทริก แมคเฮนรี สส.พรรครีพับลิกันเช่นกัน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้ทำหน้าที่ชั่วคราวเป็นเวลา 3 วันที่มีการประชุมฝ่ายนิติบัญญัติ
สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า ความรับผิดชอบของรักษาการประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้ทำหน้าที่ชั่วคราวนั้นเป็นอะไรที่คลุมเครือพอควร ตามรายละเอียดในคู่มือแนะแนวกฎระเบียบขั้นตอนของสภา ผู้ทำหน้าที่นี้ “อาจใช้อำนาจที่บัญญัติให้สำนักงานประธานสภาฯ ตามความจำเป็นและความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งประธานหรือประธานผู้ทำหน้าที่ชั่วคราว”
ขณะที่ ประธานสภาฯ เป็นผู้กำหนดวาระด้านนิติบัญญัติโดยรวมสำหรับสภาผู้แทนราษฎร ตัวผู้นำเสียงข้างมากในสภาฯ ต่างหากที่เป็นผู้กำหนดการนำเสนอร่างกฎหมายใด ๆ ขึ้นมาอภิปรายและเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติกัน
นายเคลลี อาร์มสตรอง สมาชิกสภาล่างสังกัดพรรครีพับลิกัน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ภาระหน้าที่หลักของนายแมคเฮนรี ก็คือ “การหาประธานสภาฯคนใหม่” และการทำเรื่องอื่นใดนอกเหนือจากนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการถอดเขาออกจากตำแหน่งนี้ได้
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ สภาล่างสหรัฐ ยังไม่น่าที่จะได้พิจารณาร่างกฎหมายใด ๆ เพื่อจัดสรรงบประมาณให้รัฐบาล แม้ว่า กฎหมายงบประมาณระยะสั้นฉบับชั่วคราวที่เพิ่งผ่านออกมาจะมีผลถึงวันที่ 17 พฤศจิกายนเท่านั้น และถ้ายังไม่มีการจัดสรรงบมาเพิ่มภายในเส้นตายที่ว่า รัฐบาลก็จะต้องปิดทำการชั่วคราวบางส่วน(ชัตดาวน์) อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ในเวลานี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจึงตกอยู่ในภาวะที่ไม่เคยประสบมาก่อน และก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า กระบวนการเลือกตั้งประธานสภาฯ คนใหม่เมื่อมีสมาชิกเข้าประชุมครบองค์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงใด แต่โดยปกติ การเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นมักมีกำหนดจัดขึ้นเมื่อมีการเปิดสภาคองเกรสทุก ๆ 2 ปี
ผู้นำของทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ คือรีพับลิกัน และเดโมแครต จะต้องตัดสินใจว่า พร้อมเมื่อใดที่จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระบวนการนี้เป็นไปอย่างเละเทะ เพราะตอนนั้นนายแมคคาร์ธีย์เองใช้เวลาหลายวันและต้องมีการลงคะแนนเสียงถึง 15 ครั้ง กว่าจะได้เสียงมากพอเพื่อขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ตนเพิ่งหลุดไป
สำหรับครั้งหน้า มีการประเมินว่า อาจมีความวุ่นวายไม่ใช่น้อยๆในฝั่งพรรครีพับลิกัน เว้นเสียแต่ว่า สมาชิกพรรคจะตระหนักว่า สถานการณ์ภายในพรรคทำให้ประชาชนออกมาประณามหนักจนอาจจะส่งผลเสียต่อผลการเลือกตั้งของตนในปีหน้า (2024) และกลับใจหันหน้ามาสามัคคีกันแทน
ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาคองเกรสก็ได้ และนั่นคือเหตุผลหนึ่งที่สมาชิกพรรครีพับลิกันบางส่วนเปรยๆถึงแนวคิดที่จะเสนอชื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้มารับตำแหน่งนี้ แม้ว่าตัวนายทรัมป์เองจะกำลังหาเสียงเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2024 และออกตัวแล้วว่า เขาไม่ต้องการได้ตำแหน่งประธานสภาฯ