11 ต.ค. 2566 นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษก กระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวความคืบหน้า สถานการณ์การสู้รบ ของ อิสราเอลและ กลุ่มฮามาส รวมถึงความคืบหน้า การให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย ในอิสราเอลล่าสุดว่า
สถานการณ์ยังมีการโจมตีด้วยจรวดใกล้ฉนวนกาซา โดยอิสราเอลพยายามเข้าครอบครองยึดคืนพื้นที่ ซึ่งการโจมตีที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มีการสูญเสียและบาดเจ็บของทั้งสองฝ่ายจำนวนมาก
รายงานระบุว่า ยังมีผู้ก่อการหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ โดยฝ่ายอิสราเอลก็เร่งซ่อมแซมพื้นที่ชายแดนบริเวณที่กลุ่มกองกำลังติดอาวุธของฮามาสบุกรุกเข้ามาด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากการถูกจรวดโจมตีอีก 2 ราย รวมแรงงานไทยที่เสียชีวิตเป็น 20 ราย แต่ยังคงเป็นข้อมูลจากนายจ้างและพี่น้องแรงแรงงานที่เห็นเหตุการณ์ ดังนั้น ยังต้องรอการยืนยันจากทางการอิสราเอลอย่างเป็นทางการ
ส่วนกรณีผู้บาดเจ็บมีเพิ่มขึ้นอีก 4 คน รวมเป็น 13 คน ขณะที่ผู้ถูกจับกุมไปเป็นตัวประกันนั้น แรงงานไทยที่เห็นเหตุการณ์แจ้งว่ามีผู้ถูกจับกุมไปเพิ่มอีก 3 คน จึงรวมยอดผู้ถูกจับเป็นตัวประกันขณะนี้ 14 คน
โฆษกกระทรวงยังระบุด้วยว่า จนถึงเมื่อคืนนี้ (10 ต.ค.) มียอดผู้ลงทะเบียนแสดงความประสงค์กลับไทยล่าสุดที่ 5,019 คน และมีผู้ยังไม่ขอกลับอีก 61 คน ทั้งนี้ มีคนไทยอยู่ในอิสราเอลราวๆ 30,000 คน ในส่วนของคนที่ยังไม่อยากกลับนั้น ก็มีหลายเหตุผลบางคนอาจจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ยังคงรู้สึกปลอดภัย ก็อาจไม่มีความประสงค์จะกลับในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้จะยังขึ้นๆลงๆ เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย บางคนแจ้งว่าประสงค์จะกลับแต่ก็อาจเปลี่ยนใจเมื่อได้รับความช่วยเหลือมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของอิสราเอลแล้ว เป็นต้น
ในทางกลับกัน หากสถานการณ์เลวร้ายรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ทางการไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการพิจารณาหาทางเลือกต่างๆในการให้ความช่วยเหลือคนไทยให้มากที่สุด เช่นกรณีหากมีการสู้รบรุนแรงและปิดน่านฟ้า ก็อาจต้องหาทางอพยพทางเรือ ซึ่งจะอพยพผู้คนได้มากกว่าทางเครื่องบิน แต่ทางเลือกนี้ก็ยังไม่ปลอดภัยนัก เพราะการเดินทางทางน้ำก็ยังเป็นพื้นที่อันตราย
กรณีเกี่ยวกับข่าวที่มีการพบแรงงานไทย 14 คนหลบซ่อนอยู่ในโมซาฟ Ein Hashlosha เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 ต.ค.2566 และได้รับการช่วยเหลือให้ปลอดภัยโดยทางการอิสราเอลแล้วนั้น พบว่า ไม่เป็นกลุ่มที่อยู่ในรายชื่อแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน
ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลและบริษัทจัดหางานได้เร่งอพยพคนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงแรงงานไทยออกไปยังจุดปลอดภัยได้แล้วหลายร้อยคน โดยจะไปพักอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือทำงานในนิคมเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ที่ปลอดภัย
โฆษกยังแถลงว่า เมื่อวันอังคาร (10 ต.ค. ) เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ พร้อมด้วย อัครราชทูตฝ่ายแรงงาน ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมคนไทยที่ถูกยิงอาการสาหัสที่โรงพยาบาล และมีการฝากแพทย์ให้แจ้งเมื่อผู้บาดเจ็บได้สติ และยังไปให้กำลังใจแรงงานไทยส่วนหนึ่งที่ออกมาในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว
(คลิกชมคลิป เอกอัครราชทูตพรรณนภา จันทรารมย์ และอัครราชทูตฝ่ายแรงงาน เยี่ยมให้กำลังใจแรงงานไทยส่วนหนึ่งที่ออกมาในพื้นที่ปลอดภัย)
"กองทัพอิสราเอล ยังคงเร่งอพยพคนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปอยู่ในจุดปลอดภัยหลายร้อยคนแล้ว โดยส่วนหนึ่งไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว บางส่วนไปทำงานในพื้นที่ปลอดภัย" โฆษกกระทรวงฯ ย้ำว่า คนไทยชุดแรก 15 คน จะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในเวลา 10.35 น. วันพรุ่งนี้ (12 ต.ค.) โดยสายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ (El Al Israel Airlines) เที่ยวบิน LY083 ส่วนวันที่ 18 ตุลาคม ทางสถานทูตได้จองเที่ยวบินพาณิชย์ไว้ให้อีก 80 ที่นั่ง
กรณีเครื่องบินของกองทัพอากาศที่จะเข้าไปช่วยเหลือนั้น อาจจะถูกมองว่าล่าช้า แต่ขอชี้แจงว่า เป็นเพราะการนำเครื่องบินกองทัพไปรับคนไทยในอิสราเอล จำเป็นต้องขออนุญาตการบินผ่านน่านฟ้าของหลายประเทศที่เครื่องบินต้องบินผ่าน ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติปกติ จึงต้องใช้เวลาในการประสาน และในพื้นที่เองก็ต้องนัดหมายพี่น้องแรงงานไทยให้เดินทางมาสนามบินด้วย
สำหรับพี่น้องคนไทยที่ประสงค์จะขอรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อสอบถามเกี่ยวกับญาติที่พำนักอยู่ในอิสราเอล สามารถติดต่อได้ทางช่องทางต่างๆ ดังนี้