"นายกฯเศรษฐา" พบ 4 เอกชน "ยักษ์ใหญ่ซาอุฯ" ดึงลงทุนในไทย

21 ต.ค. 2566 | 09:09 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2566 | 11:45 น.

นายกฯเศรษฐา เดินหน้าสานสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ หวังเพิ่มขีดการสามารถแข่งขันการค้า-ลงทุน พบ 4 เอกชนยักษ์ใหญ่เจ้าถิ่น SALIC , PIF, ARAMCO และ SABIC เชิญชวนลงทุนในไทยหลากแขนงอุตสาหกรรม ตั้งแต่เกษตร ปศุสัตว์ ปุ๋ย อาหาร ไปจนถึงภาคบริการ การท่องเที่ยว พลังงานสะอาด และปิโตรเลียม

 

21 ตุลาคม 2566 เวลา 10.30 น. ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึง ผลสำเร็จในการเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ว่า เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (20 ต.ค.) เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงริยาด ได้เลี้ยงรับรองอาหารค่ำให้กับนายกฯ และคณะ โดยได้พบกับทีมประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ทางพาณิชย์การค้า การลงทุน ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

ทั้งนี้ ทางเอกอัครราชทูตไทยได้ให้ข้อคิดว่า ความจริงแล้วศักยภาพการค้า การลงทุน ที่ซาอุฯ ยังสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขยายการค้า ด้านการเกษตร เชิงพาณิชย์ และการลงทุน  โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้แจ้งว่า ต้องการให้มีเจ้าหน้าที่ประจำที่ซาอุฯ ซึ่งหลังจากพูดคุยกันแล้ว นายกฯเองมีความเข้าใจถึงความต้องการตรงนี้ และอยากให้เอกอัครราชทูตได้เขียนมาว่า เหตุผลที่ต้องการคืออะไร เพราะถือว่าเป็นประเทศหลักที่รัฐบาลเพิ่งเปิดความสัมพันธ์ใหม่อีกครั้งหลังจากที่ปิดไปนาน ถือว่าเป็นประเทศที่ไทยอยากมีความสัมพันธ์กันเพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การค้า การลงทุนขึ้นไปอีก

คณะของนายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกับผู้แทนภาคเอกชน 4 รายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย วันนี้ (21 ต.ค.2566)

ทั้งนี้ ในวันนี้ (21 ต.ค.) คณะของนายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกับ ผู้แทนภาคเอกชน 4 รายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย ประกอบด้วย บริษัท SALIC บริษัท ARAMCO บริษัท SABIC และ กองทุน บริษัท PIF มีรายละเอียด ดังนี้

เวลา 9.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซึ่งช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้พบปะกับนายซุลัยมาน อัรรุมัยฮ์ (Sulaiman AlRumaih) ประธานคณะกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท Saudi Agricultural and Livestock Investment Company (SALIC) ดำเนินธุรกิจปศุสัตว์รายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย

สรุปสาระสำคัญ

  • นายกฯ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลใหม่ที่จะสานต่อความสําเร็จของรัฐบาลที่ผ่านมา และส่งเสริมความสัมพันธ์กับ ภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งผลักดันความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับ SALIC ในด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และอาหาร เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนทั้งสองฝ่าย
  • ในการนี้ได้เชิญ SALIC เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม คณะกรรมการด้านการลงทุน ภายใต้สภาความร่วมมือ ซาอุดีอาระเบีย – ไทย (STCC) ครั้งที่ 1 ที่ประเทศไทย ซึ่งผู้บริหารของ SALIC ต้องการรับการสนับสนุนการลงทุนของบริษัทในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การเกษตร การประมง การเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ ปศุสัตว์ ฯลฯ และประสงค์ให้ไทยเพิ่มการลงทุนในซาอุดีอาระเบียด้วย
  •  ทั้งนี้ บริษัท SALIC อยู่ภายใต้กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Public Investment Fund: PIF) ของรัฐบาลซาอุฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยมีสาขาการลงทุนที่สำคัญ เช่น การเกษตร การซื้อขายธัญพืช ข้าว และเนื้อสัตว์ และตั้งเป้าเป็นบริษัทชั้นนำในด้านความมั่นคงทางอาหารของโลก

นายกฯและคณะ พบหารือกับ CEO บริษัท Saudi Agricultural and Livestock Investment Company (SALIC)

ต่อมาเวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด) นายกฯและคณะ ได้พบปะกับภาคเอกชนซาอุดีอาระเบียเพิ่มเติมอีก ซึ่ง ได้แก่

  1. นายยาเซอร์ บิน อุสมาน อัล-รูมัยยาน (Yasir bin Othman Al-Rumayyan) ประธานกรรมการกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Governor of the Public Investment Fund: PIF)
  2. นายอามิน ฮัซซาน อาลี นัซเซอร์ (Amin Hassan Ali Nasser) ประธานกรรมการและ CEO รัฐวิสาหกิจ Saudi Arabian Oil Company (Saudi ARAMCO) ของซาอุดีอาระเบีย
  3. และนายอับดุลราห์มัน อัล-ฟากีห์ (Abdulrahman Al-Fageeh) ประธานบริหารและสมาชิกคณะกรรมการบริหาร Saudi Arabia Basic Industries Corporation (SABIC)

สรุปสาระสำคัญ

  • นายกรัฐมนตรีและภาคเอกชนซาอุฯ ทั้ง 3 บริษัท เห็นพ้องถึงการให้ความสำคัญต่อการกระชับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองประเทศต่างมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และยินดีขยายส่งเสริมการค้าและการลงทุนซึ่งกันและกัน รวมถึงยินดีอำนวยความสะดวกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและสนใจร่วมกัน เช่น การบริการและการท่องเที่ยว พลังงานสะอาด อาหารและการเกษตร ปิโตรเลียม และปุ๋ย
  • สำหรับบริษัท SABIC ประสงค์เพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับไทย ในด้านปิโตรเคมี ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญ
  • ด้านบริษัท ARAMCO ยินดีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของไทย กับบริษัท ARAMCO ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านพลังงานเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) พร้อมหวังว่าจะสามารถยกระดับความร่วมมือด้านพลังงานได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
  • ทั้งนี้ ภาคเอกชนซาอุฯ ยังพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตเศรษฐกิจควบคู่กับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนของซาอุฯ หวังว่า ทั้งสองประเทศจะส่งเสริมและมีความร่วมมือด้านการลงทุนมากขึ้นในอนาคต
  • นายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความพร้อมของรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านพลังงาน พร้อมเน้นย้ำศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย ที่สามารถเป็นจุดเชื่อมโยงในภูมิภาคให้กับซาอุดีอาระเบียได้ พร้อมเชิญชวนภาคเอกชนซาอุฯ เยือนไทยเพื่อศึกษาและหารือ เกี่ยวกับศักยภาพและความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมกันนี้ ยังได้นำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย โดย PIF เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีศักยภาพ และแสดงความสนใจในโครงการนี้ด้วย