นายไล่ ชิงเต๋อ วัย 65 ปี ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน จาก พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ ดีพีพี (Democratic Progressive Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน เตรียมเข้ามาสานต่อนโยบายจากประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ซึ่งจะหมดวาระดำรงตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมนี้ ท่ามกลางความท้าทายนานัปการ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน ไปจนถึงแรงกดดันและการเผชิญหน้ากับจีนแผ่นดินใหญ่
ชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวันที่ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเกิน 5 ล้านเสียง ด้วยคะแนนโหวต 40.2% ขณะที่คู่แข่ง คือ โหว โหย่วอี๋ จากพรรคชาตินิยมไต้หวัน หรือ พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ที่มาเป็นอันดับ 2 ได้คะแนนโหวต 33.4% และเคอ เหวินเจ๋อ จากพรรคประชาชนไต้หวัน หรือ TPP ได้คะแนน 26.4%
การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผลต่ออนาคตความสัมพันธ์ในอีก 4 ปีข้างหน้าของไต้หวันที่ปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย กับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ว่านี้ รวมถึงประเด็นความมั่นคงและสันติภาพในบริเวณช่องแคบไต้หวัน
ส่วนความท้าทายที่เป็นประเด็นภายในประเทศนั้น ประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องพบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา และราคาที่อยู่อาศัยที่แพงขึ้นอย่างมากในไต้หวัน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ก่อนหน้านี้จีนเรียกการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งจีนราว 160 กิโลเมตร ว่า เป็นการเลือกระหว่าง “สงคราม” และ “ความสงบสุข” เนื่องจากที่ผ่านมา ทางการปักกิ่งแสดงท่าทีต่อต้านอย่างรุนเเรงต่อเเนวคิดและนโยบายฝักใฝ่ตะวันตกของปธน.ไช่ อิงเหวินและของนายไล่ ในฐานะรองประธานาธิบดี ซึ่งมาจากพรรคเดียวกัน คือพรรคดีพีพี (Democratic Progressive Party)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่นายไล่ และประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ที่กำลังจะลงจากตำแหน่ง ได้ปฏิเสธการอ้างอธิปไตยของจีนเหนือไต้หวัน ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นและเเยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองในปีค.ศ. 1949
อย่างไรก็ตาม ทั้งนายไล่และนางไช่ ได้เสนอที่จะเจรจากับจีน แต่รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธท่าทีดังกล่าว และเรียกบุคคลทั้งสองว่าเป็น "ผู้ที่ต้องการแบ่งเเยกดินเเดน"
ทั้งนี้ เชื่อกันว่ารัฐบาลจีนอยากให้คู่แข่งของนายไล่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ โหว โหย่วอี๋ จากพรรคชาตินิยมไต้หวัน หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ชนะการเลือกตั้งมากกว่า อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่า ทั้งผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ต่างก็ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้แล้วหลังจากที่ผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้งไต้หวัน ชี้ว่าการนับคะแนนเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 90% ทั่วประเทศ
"ผมหวังว่าทุกพรรคการเมืองจะร่วมกันเผชิญความท้าทายของไต้หวัน เราต้องการไต้หวันที่เป็นหนึ่งเดียว" โหว โหย่วอี๋ จากพรรคชาตินิยมไต้หวัน (KMT) กล่าวขณะประกาศยอมรับความพ่ายแพ้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ไต้หวัน หรือในชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีน ประสบความสำเร็จด้านประชาธิปไตยนับตั้งแต่จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรกในปีพ.ศ. 2539 หลังจากเผชิญกับการปกครองแบบเผด็จการและกฎอัยการศึกมานานหลายทศวรรษ
พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และปฏิเสธการอ้างสิทธิของจีนเหนือดินแดนไต้หวัน ได้ส่งผู้สมัครลงชิงชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งรวมถึงนายไล่ ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง จีนประณามนายไล่หลายครั้งว่าเป็นผู้แบ่งแยกดินแดนที่เป็นอันตราย และปฏิเสธเสียงเรียกร้องของนายไล่หลายครั้งในการเจรจา ขณะที่นายไล่กล่าวว่าเขามุ่งมั่นที่จะรักษาสันติภาพทั่วช่องแคบไต้หวัน และจะยังคงส่งเสริมการป้องกันเกาะไต้หวันต่อไป
สำหรับประวัติ ของนายไล่ ชิงเต๋อ หรือ “วิลเลียม ไล่ ชิงเต๋อ” เขาเกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ในเขตว่านหลี่ เมืองนิวไทเป เขาเติบโตมาในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากบิดาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เหมืองแร่ขณะเขามีอายุได้เพียง 2 ขวบเท่านั้น
ไล่ ชิงเต๋อ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน จากนั้น ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สาขาสาธารณสุขศาสตร์ ทำให้เขากลายเป็นเจ้าหน้าที่การแพทย์เพียงไม่กี่คนในไต้หวัน ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู การดูแลทางคลินิก และความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข
การเบนเข็มทิศชีวิตสู่เส้นทางการเมือง เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไต้หวันยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกและเดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ในช่วงเวลานั้น ไล่ ชิงเต๋อ หวังเพียงว่าการมาเป็นนักการเมืองจะทำให้สามารถมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย