นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ มีกำหนดเดินทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ คืนนี้ ในเวลา 00.15 น.ไปยังนครซูริค สมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วม การประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม World Economic Forum ประจำปี 2024 (WEF2024) ที่ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค. โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เข้าร่วมการประชุมด้วย
ทั้งนี้ นายกฯ มีกำหนดการหารือกับ น.ส.วิโอลา อัมแฮร์ท ประธานาธิบดีแห่งสมาพันธรัฐสวิส เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ ยังมีวาระหารือกับผู้บริหารบริษัทกูเกิล และผู้บริหารกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมด้วย
นอกจากนี้ นายกฯและรองนายกฯ จะเข้าร่วมและร่วมเป็นผู้เสวนาในการประชุมและเวทีเสวนาต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและเชิญชวนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ที่เป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐบาลนี้ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์โลก ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว นอกจากนั้น ยังมีกำหนดการพบกับผู้นำรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และภาคธุรกิจ เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือในอนาคต
สำหรับการประชุมประจำปีของ WEF เป็นเวทีที่มีลักษณะเฉพาะและมีความพิเศษ มีผู้เข้าร่วมทั้งที่เป็นประมุขและผู้นำรัฐบาล หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ ผู้บริหารภาคธุรกิจ (CEOs) นักวิชาการ ตลอดจนผู้มีอิทธิพลทางความคิดระดับโลก ประมาณ 2,500 คนจากทั่วโลก
การประชุมปี 2024 นี้ นับเป็นการประชุม WEF ครั้งที่ 54 ภายใต้หัวข้อ “ฟื้นฟูความเชื่อมั่น” (Rebuilding Trust) ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
การเข้าร่วม WEF ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ นับเป็นการเข้าร่วมระดับผู้นำของไทยครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 ในสมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นการเยือนภูมิภาคยุโรปครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะตอกย้ำความพร้อมของไทยในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของโลก และใช้โอกาสนี้พบปะหารือกับผู้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากทั่วโลก
สำหรับ กำหนดการสำคัญภายใต้กรอบ WEF ที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมมี 3 รายการ ได้แก่
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการพบปะภาคเอกชนสำคัญ อาทิ ผู้บริหารบริษัทด้านเทคโนโลยี และ Solutions บริษัทท่าเรือ logistics บริษัทด้านการเงิน การธนาคาร บริษัทด้านโทรคมนาคม บริษัทด้านยาและวัคซีน บริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทด้านธุรกิจ Delivery และพบปะบุคคลสำคัญ อาทิ นายมาทีอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD นาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร WEF และ ผู้บริหารของ World Bank ด้วย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะผลักดันบทบาทของไทยในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือในโลก การส่งเสริมการค้าการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรม EVs อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมความเชื่อมโยงผ่านโครงการ Landbridge ให้แก่ผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม วิชาการ และสื่อชั้นนำต่าง ๆ ที่เข้าร่วม เพื่อนำผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมกลับมาให้พี่น้องชาวไทย