รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศให้เวลา "ม็อบหมอ" ซึ่งเป็นบรรดา แพทย์ฝึกหัด ที่ ผละงานมาประท้วงรัฐบาล ต้องกลับเข้าทำงานภายในวันพฤหัสฯที่ 29 ก.พ. นี้ โดยพวกเขาต้องกลับไปรายงานตัวต่อที่ทำงาน ไม่เช่นนั้นหากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวก็จะมีผลในเชิงลงโทษตามมา เนื่องจากการผละงานมาประท้วงรัฐบาลของเหล่าแพทย์ฝึกหัดในครั้งนี้ ได้เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงต่อการทำงานของโรงพยาบาลต่าง ๆ ทำให้ต้องมีการยกเลิกแผนการผ่าตัดและการรักษาอื่นๆ อีกจำนวนมาก รวมถึงการปฏิเสธรับผู้ป่วยใหม่
สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานว่า การหยุดงานประท้วงของแพทย์ทำให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุด 5 แห่งในกรุงโซล จำเป็นต้องลดจำนวนการผ่าตัดและการรักษาอื่นๆ ลงอย่างมาก ยกตัวอย่างโรงพยาบาล Severance Hospital ใจกลางกรุงโซล ได้ลดจำนวนการผ่าตัดลง 50% ขณะที่โรงพยาบาล St Mary’s Hospital และโรงพยาบาล Asan Medical Center ต้องลดจำนวนการผ่าตัดลง 30% นอกจากนี้ ยังมีรายงานระบุผู้ป่วยโรคมะเร็งและหญิงมีครรภ์ที่ได้รับผลกระทบ โดยพวกเขาต้องรอการตรวจรักษายาวนานมากขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแพทย์ฝึกหัดราว 9,000 คนเริ่มผละงานเพื่อประท้วงนโยบายของรัฐบาลที่จะเพิ่มโควตาการรับนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกราว 65% หรือเพิ่มราว 2,000 คนในปีหน้า จากระดับ 3,058 คนในปัจจุบัน โดยมีแผนจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์เป็น 10,000 คนภายในปี ค.ศ. 2035
รัฐบาลเกาหลีใต้ระบุเหตุผลว่า การเพิ่มจำนวนหมอเป็น “สิ่งจำเป็น” ในการรับมือจำนวนผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน อัตราส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วยของเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
แต่บรรดาผู้ประท้วงซึ่งคัดค้านนโยบายนี้ ให้เหตุผลว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่สามารถรองรับนักศึกษาแพทย์จำนวนมากขึ้น แพทย์บางคนบอกกับผู้สื่อข่าวว่า การเพิ่มโควต้าการรับนักศึกษาแพทย์จะทำให้เกิดปัญหากับคุณภาพของการเรียนการสอน นอกจากนี้ นโยบายใหม่ดังกล่าวจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในบางสาขาสำคัญที่มีค่าจ้างต่ำ เช่น กุมารแพทย์ และแพทย์ประจำฝ่ายฉุกเฉิน
ปาร์ค แดน ประธานสมาคมแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ฝึกหัดแห่งเกาหลี ซึ่งเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้ กล่าวว่า หากมีการเอาผิดผู้ประท้วง เขาเองก็พร้อมที่จะถูกจับกุมเพื่อให้สิ่งที่บรรดาแพทย์ทั้งหลายเรียกร้องไปถึงหูของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง "หากคุณต้องการปฏิรูป ปัญหาที่แท้จริงก็คือ ค่าตอบแทนและเงื่อนไขในการทำงานต่างหาก"
ด้านปาร์ค มิน-ซู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (26 ก.พ.) ว่า รัฐบาลจะไม่เอาผิดทางวินัยต่อบรรดาแพทย์ที่เข้าร่วมในการประท้วงผละงานหากพวกเขากลับมาทำงานภายในวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.พ. นี้ แต่หากกลับมาไม่ทันกำหนดเส้นตายดังกล่าว พวกเขาจะถูกลงโทษด้วยการระงับใบประกอบวิชาชีพแพทย์อย่างน้อยสามเดือน และอาจถูกไต่สวนหรือดำเนินคดีทางกฎหมายได้
ทั้งนี้ ตามกฎหมายเกาหลีใต้อนุญาตให้รัฐบาลออกคำสั่งบังคับให้บรรดาแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลับไปทำงานได้ หากมีสถานการณ์ร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับ 30 ล้านวอน หรือราว 800,000 บาท รวมทั้งอาจถูกยึดใบประกอบวิชาชีพได้ตามกฎหมาย
ปัจจุบัน ในระบบสาธารณสุขของเกาหลีใต้ มีแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ฝึกหัดราว 13,000 คน โดยส่วนใหญ่กระจายทำงานอยู่ตามโรงพยาบาล 100 แห่ง มีหน้าที่ช่วยเหลือแพทย์ที่อาวุโสกว่าในการผ่าตัดหรือการดูแลผู้ป่วยใน
การผละงานประท้วงของเหล่าแพทย์ฝึกหัดในครั้งนี้ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนก.พ.โดยมีจำนวนแรกเริ่มการประท้วงราว 7,800 คนทั่วประเทศ ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นราวๆ 9,275 คนในปัจจุบัน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของแพทย์ฝึกหัดทั่วประเทศ จึงเป็นการผลักภาระให้กับโรงพยาบาลในช่วงที่ผ่านมา
ทางสมาคมแพทย์เกาหลีซึ่งเป็นตัวแทนของแพทย์ราว 140,000 คนในเกาหลีใต้ ได้ออกมาสนับสนุนผู้ประท้วง โดยระบุว่า มาตรการของรัฐบาลที่ต้องการจะเพิ่มนักศึกษาแพทย์ อาจนำไปสู่ต้นทุนด้านสาธารณสุขที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากบรรดาแพทย์อาจมีการแข่งขันที่จะให้การรักษาที่ไม่จำเป็นกับผู้ป่วยได้
ในการสำรวจล่าสุด พบว่าชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ หรือ 80% สนับสนุนนโยบายเพิ่มจำนวนแพทย์ของรัฐบาลมากกว่าที่จะเห็นด้วยกับฝ่ายผู้ประท้วง โดยพวกเขาเห็นว่า แพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพรายได้สูงในเกาหลีใต้ไม่ควรออกมาประท้วงเพราะความกังวลเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนตัวว่า การเพิ่มจำนวนแพทย์เข้าไปในระบบสาธารณสุข จะทำให้เกิดการแข่งขันและทำให้รายได้ของพวกตัวเองต้องลดลง