รายงานดังกล่าวของ WMO เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (23 เม.ย.) ระบุว่า เอเชีย มีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก น้ำท่วม พายุ และ คลื่นความร้อน ที่รุนแรงยิ่งขึ้น
หลายพื้นที่ของภูมิภาคนี้ประสบกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดในปี 2566 โดยเอเชียมีอุณหภูมิใกล้พื้นผิว (near-surface temperature) เฉลี่ยทำสถิติสูงสุดเป็นอันดับสอง สูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2534-2563 อยู่ 0.91 องศา ขณะที่อุณหภูมิร้อนเป็นพิเศษในไซบีเรียตะวันตกจนถึงเอเชียกลาง และจากจีนตะวันออกจนถึงญี่ปุ่น ส่วนญี่ปุ่นและคาซัคสถานประสบกับปีที่ “ร้อนที่สุด”
รายงานระบุว่า เทือกเขาอาระกันของเมียนมา และบริเวณตอนล่างของแม่น้ำโขงก็มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ในขณะที่จีนตะวันตกเฉียงใต้ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีระดับฝนตกต่ำกว่าปกติเกือบทุกเดือนในปี 2566
แม้ปริมาณฝนตกโดยรวมจะลดลง แต่ก็มีเหตุการณ์สภาพอากาศร้ายแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น
รายงานระบุว่า ตั้งแต่ปี 2513-2564 มีภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และน้ำที่ร้ายแรงจำนวน 3,612 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 984,263 ราย และมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเอเชียครองสัดส่วนคิดเป็น 47% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่มีการรายงานว่าเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก โดยมีพายุหมุนเขตร้อนเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง
ในปีนี้ ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในหลายจังหวัด โดยอุณหภูมิในจังหวัดนิงาตะ, อาคิตะ และยามากาตะ พุ่งแตะ 30 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรกของปีเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) คาดการณ์ว่า อุณหภูมิทั่วประเทศในระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค. จะสูงกว่าปกติ และได้ออกคำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังโรคลมแดด
นอกจากนี้ JMA ระบุว่า อุณหภูมิทางตอนเหนือของญี่ปุ่นในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค. จะสูงกว่าปกติหรืออาจอยู่ในระดับปกติ ขณะที่อุณหภูมิบริเวณภาคตะวันออกและตะวันตกของญี่ปุ่น คาดว่าจะสูงกว่าปกติ เช่นเดียวกับอุณหภูมิในจังหวัดโอกินาวาและหมู่เกาะอามามิ
ขณะเดียวกัน ทางการญี่ปุ่นได้เริ่มใช้ระบบแจ้งเตือนโรคลมแดดแบบพิเศษ (Special Heat Stroke Alert) แล้วเมื่อวันพุธ (24 เม.ย.) โดยจะใช้กับจังหวัดที่ดัชนีความร้อนสูงแตะ 35 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่านั้น ในทุกจุดตรวจสอบ โดยจังหวัดนั้นๆ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันโรคลมแดด รวมถึงกำหนดให้พื้นที่ของรัฐและเอกชนที่มีเครื่องปรับอากาศ เป็นศูนย์หลบร้อน (cooling shelter) และเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้จัดการบริษัท และผู้จัดงาน จะต้องดำเนินมาตรการป้องกันโรคลมแดดอย่างครอบคลุมเช่นกัน