ย้อนอดีตเหตุการณ์ “เครื่องบินตก” คร่าชีวิตบุคคลสำคัญการเมืองโลก

21 พ.ค. 2567 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2567 | 06:56 น.

เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย ได้คร่าชีวิตประธานาธิบดีอิหร่าน พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (19 พ.ค.) ทำให้โลกต้องย้อนอดีต “อุบัติเหตุทางอากาศ” ที่เคยพรากบุคคลสำคัญทางการเมืองในประเทศต่างๆไปหลายคนแล้วก่อนหน้านี้ 

อุบัติเหตุทางอากาศ ล่าสุดใน อิหร่าน ที่ยังคงมีการสืบหาสาเหตุที่แท้จริงกันอยู่นั้น ได้คร่าชีวิต นายเอบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) ประธานาธิบดีอิหร่าน วัย 63 ปี พร้อมกับนายฮอสเซน อามีร์ อับดุลลาเฮียน (Hossein Amir- Abdollahian) รัฐมนตรีต่างประเทศ และบุคคลอื่นๆ รวมทั้งนักบินรวม 8 ชีวิต นับเป็นข่าวช็อคโลกที่ทำให้ต้องย้อนระลึกกันว่า นี่เป็นอีกครั้ง ที่บุคคลสำคัญทางการเมืองระดับประเทศและระดับโลก ต้องมาเสียชีวิตกับอุบัติเหตุเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ตก

ในอดีตเคยมีบุคคลสำคัญทางการเมืองที่เสียชีวิตในอุบัติเหตุทางอากาศไม่น้อยกว่า 10 เหตุการณ์ ดังนี้ (ตำแหน่งที่ระบุของแต่ละบุคคล เป็นตำแหน่งในขณะนั้น และตัวเลขในวงเล็บคือปีที่เกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิต)  

นายอาร์วิด ลินด์แมน (Arvid Lindman) นายกรัฐมนตรีสวีเดน (ปี 1936)

นายอาร์วิด ลินด์แมน อดีตนายทหารที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสวีเดนถึงสองสมัย เขาเป็นนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมที่ทรงอิทธิพล แต่น่าเศร้าใจที่ลินด์แมนต้องมาเสียชีวิตในเหตุการณ์เครื่องบินรุ่น Douglas DC-2 ที่เขาเป็นหนึ่งในผู้โดยสารตกลงในเขตชุมชนใกล้ๆสนามบินครอยดอน (Croydon Airport) ในประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1936 หลังจากที่เพิ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าไม่กี่นาทีท่ามกลางสภาพอากาศที่มีหมอกหนา

นายรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (ปี 1957)

นายรามอน เดล เฟียโร แมกไซไซ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 7 เป็นบุคคลมีชื่อเสียงทางการเมืองที่ได้รับการยกย่องในฐานะนักสู้เพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในแวดวงการเมืองของฟิลิปปินส์ ชะตาชีวิตของเขาสิ้นสุดลงอย่างกระทันหันในอุบัติเหตุทางเครื่องบินเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1957 เครื่องบินโดยสารรุ่น C-47 ที่ชื่อ “Mt. Pinatubo” (เมาท์พินาทูโบ) บินชนภูเขามานุงกาล (Mount Manunggal) ในเมืองเซบู ข่าวระบุว่าในจำนวนผู้โดยสาร 25 คน มีเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่ประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต

นายรามอน เดล เฟียโร แมกไซไซ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 7

สภาพซากเครื่องบินโดยสารรุ่น C-47 หลังบินชนภูเขาในเมืองเซบูปี 1957 ทำให้นายแมกไซไซเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต

 

นายเนรู รามอส (Nereu Ramos) ประธานาธิบดีบราซิล (ปี 1958)

นายเนรู รามอส ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการณ์ของประเทศบราซิลเพียงระยะเวลาสั้นๆ เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1958 ขณะกำลังเดินทางด้วยเครื่องบินของสายการบินครูเซโร โด ซูล ( Cruzeiro do Sul) ซึ่งเกิดอุบัติเหตุตกลงใกล้ๆกับท่าอากาศยานนานาชาติคูริทิบา อาฟอนโซ ปีนา (Curitiba Afonso Pena International Airport) ในรัฐปารานาของประเทศบราซิล

นายด๊าก ฮัมมาร์เฮิลด์ (Dag Hammarskjöld) เลขาธิการยูเอ็น (ปี 1961)

นายด๊าก ฮัมมาร์เฮิลด์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักการทูตชาวสวีเดน ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในช่วงที่โลกอยู่ในช่วงพีคสุดของสงครามเย็น หรือการเผชิญหน้าระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา ฮัมมาร์เฮิลด์ได้ชื่อว่าเป็นตัวกลางที่เหมาะสมที่สุดและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เขายังเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับ

ด๊าก ฮัมมาร์เฮิลด์ เลขาธิการยูเอ็น เสียชีวิตขณะบินไปเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพในแอฟริกา

แต่ชีวิตของเขามาพบจุดจบอย่างน่าเศร้าเมื่อวันที่ 18 กันยายน 1961 ระหว่างที่เขากำลังเดินทางไปยังประเทศคองโกเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองในช่วงเวลานั้น โดยฮัมมาร์เฮิลด์เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยให้เกิดข้อตกลงหยุดยิง เครื่องบินโดยสารของเขาตกลงในบริเวณที่เป็นประเทศแซมเบียในปัจจุบัน (ขณะนั้นเรียกว่า “นอร์ทเธิร์น โรดีเซีย”) สาเหตุการตกยังเป็นที่กล่าวขานว่ามันเป็นเพราะความผิดพลาดของนักบินหรือไม่ ขณะที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกาโทษว่าสหภาพโซเวียตคือผู้อยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมครั้งนี้

นายอับดุล ซาราม อาริฟ (Abdul Salam Arif) ประธานาธิบดีอิรัก (ปี 1966)

นายอับดุล ซาราม อาริฟ ประธานาธิบดีคนที่สองของอิรัก มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการปฏิวัติปี 1958 ซึ่งเกิดการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ในประเทศอิรัก อาริฟเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 เมษายน 1966 เมื่อเครื่องบินของกองทัพอิรักรุ่น Havilland DH.104 Dove ที่เขาเป็นหนึ่งในผู้โดยสารตกลงโหม่งโลกใกล้ๆเมืองบาสรา เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้นายอับดุล ราห์มัน อาริฟ (Abdul Rahman Arif) น้องชายของเขา ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน

นายอุงแบร์ตู กัสแตลู บรังกู (Humberto Castelo Branco) ประธานาธิบดีบราซิล (ปี 1967)

นายอุงแบร์ตู จี อาเล็งการ์ กัสแตลู บรังกู เป็นประธานาธิบดีคนที่ 26 ของบราซิล และเป็นบุคคลสำคัญในยุคสมัยที่บราซิลอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร หลังจากที่พ้นตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่นาน เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 1967 เมื่อเครื่องบิน Piper PA-23 Aztec ที่เขาโดยสารมา ได้ชนกลางอากาศกับเครื่องบิน Lockheed T-33 ของกองทัพอากาศบราซิล การตายของเขาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากและบ้างก็ว่าอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากการสมคบคิดของผู้ประสงค์ร้าย

นายสัญชัย คานธี (Sanjay Gandhi) นักการเมืองชาวอินเดีย (ปี1980)

นายสัญชัย คานธี บุตรชายคนรองของอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 1980 ด้วยวัยเพียง 34 ปี จากอุบัติเหตุระหว่างการขับเครื่องบิน ข่าวในช่วงเวลานั้นรายงานว่า เครื่องบินที่เขาขับตกลงบริเวณชานกรุงนิวเดลี การตายของสัญชัยเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียในตระกูลคานธี เพราะหลังจากนั้นทั้งแม่ และพี่ชายของเขา ก็มีจุดจบที่น่าเศร้าเช่นกัน

นายสัญชัย คานธี บุตรชายคนรองของอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย

 

นายราชิด คารามี (Rashid Karami) นายกรัฐมนตรีเลบานอน (ปี 1987)

นายราชิด คารามี ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเลบานอนที่ชนะการเลือกตั้งได้เข้ามาดำรงตำแหน่งบ่อยครั้งที่สุด คือ 8 ครั้ง และเป็นบุคคลที่มีบทบาทในยุคสงครามกลางเมืองของเลบานอน วันที่ 1 มิถุนายน 1987 เกิดการระเบิดขึ้นในเฮลิคอปเตอร์ของเขาที่กำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองเบรุต ทำให้คารามีเสียชีวิต และอีกหลายคนบนเครื่องได้รับบาดเจ็บ ข่าวระบุว่า ระเบิดดังกล่าวถูกควบคุมโดยระบบรีโหมตคอนโทรล

นายมุฮัมหมัด เซีย-อุล-ฮัก (Muhammad Zia-ul-Haq) ประธานาธิบดีปากีสถาน (ปี 1988)

นายพลมุฮัมหมัด เซีย-อุล-ฮัก เป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของปากีสถาน เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1988 เมื่อเครื่องบิน C-130 Hercules ที่โดยสารมาตกลงหลังเพิ่งทะยานขึ้นสู่ฟ้าได้ไม่นาน เหตุการณ์ครั้งนั้นมีบุคคลสำคัญหลายคนเสียชีวิตพร้อมกับนายพลเซีย-อุล-ฮัก รวมทั้งนายพลระดับสูงในกองทัพและเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำปากีสถาน

นายพลมุฮัมหมัด เซีย-อุล-ฮัก ประธานาธิบดีคนที่ 6 ของปากีสถาน

สาเหตุการตกของเครื่องบินดังกล่าวยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ ว่ามันคืออุบัติเหตุที่เกิดจากข้อบกพร่องทางเทคนิคหรือเป็นการก่อวินาศกรรมโดยสายลับสหภาพโซเวียตกันแน่ เนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลปากีสถานให้การสนับสนุนกลุ่มมุสลิมติดอาวุธมูจาฮีดินในประเทศอัฟกานิสถานช่วงเวลาที่กองทัพสหภาพโซเวียตเข้ารุกราน  

นายมาดาฟราว ซินเดีย (Madhavrao Scindia) นักการเมืองชาวอินเดีย (ปี 2001)

นายมาดาฟราว ซินเดีย เป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและเป็นสมาชิกสภาคองเกรสอินเดีย เขาเสียชีวิตในอุบัติเหตุเครื่องบินตกใกล้เมืองไมน์ปุรี ในรัฐอุตตรประเทศ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2001 โดยเครื่องบินส่วนตัว Beechcraft King Air C90 ของเขาเกิดไฟลุกกลางอากาศก่อนจะตกลง

มาดาฟราว ซินเดีย นักการเมืองที่มีชื่อเสียงและเป็นสมาชิกสภาคองเกรสอินเดีย

 

นายเยฟเกนี พริโกซิน (Yevgeny Prigozhin) หัวหน้าทหารรับจ้างกลุ่มวากเนอร์ (ปี 2023)

นายเยฟเกนี พริโกซิน หัวหน้าทหารรับจ้างกลุ่มวากเนอร์ซึ่งมีบทบาทในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นข่าวใหญ่เมื่อเขาพยายามก่อกบฏบุกเมืองมอสโก นครหลวงของรัสเซีย ในปี 2023 แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นาน เขาก็เป็นข่าวอีกครั้งในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เมื่อเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวที่ออกเดินทางจากกรุงมอสโกมุ่งหน้านครเซนต์ปีเตอร์เบิร์กเกิดอุบัติเหตุตกลง โดยข่าวระบุว่า เครื่องบินของเขาเริ่มพบปัญหาขัดข้องเมื่อไปได้เพียงครึ่งทาง ตอนแรกผู้คนคิดว่านี่เป็นเพียงข่าวลือ แต่สุดท้ายก็ได้รับการยืนยันว่า พริโกซิน ผู้นำกลุ่มวากเนอร์ เสียชีวิตแล้วจริงๆ จากอุบัติเหตุเครื่องบินตกดังกล่าว โดยข้อมูลจากหน่วยงานด้านการบินของรัสเซียระบุว่า “ผลการสอบสวนเหตุเครื่องบินตกพบว่าในรายชื่อผู้โดยสาร มีชื่อของเยฟเกนี พริโกซิน หัวหน้ากลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์รวมอยู่ด้วย”

เครื่องบินลำที่เกิดเหตุเป็นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมีผู้โดยสารบนเครื่อง 10 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกเรือ 3 คน ออกเดินทางจากกรุงมอสโกไปนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และจู่ๆ เครื่องบินก็หายไปจากเรดาร์ และพบว่าเครื่องบินตกในเวลาต่อมา โดยไม่มีผู้รอดชีวิตแม้แต่คนเดียว มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้อาจไม่ใช่อุบัติเหตุ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียอาจอยู่เบื้องหลังจุดจบของนายพริโกซิน 

นายเซบาสเตียน พิเนรา (Sebastian Pinera) อดีตประธานาธิบดีชิลี (ปี 2024)

นายเซบาสเตียน พิเนรา อดีตประธานาธิบดีชิลีสองสมัย คือระหว่างปี 2010-2014 และปี 2018-2022  นอกจากนี้ เขายังเป็นมหาเศรษฐีนักธุรกิจระดับพันล้านดอลลาร์ เขาจมน้ำเสียชีวิตในช่วงบ่ายของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเฮลิคอปเตอร์ Robinson R44 ของเขาบินตกลงสู่ทะเลสาบในจังหวัดภาคใต้ของประเทศชิลี โดยลักษณะที่หน่วยกู้ภัยพบคือเฮลิคอปเตอร์จมลงในทะเลสาบเพียงครึ่งลำ แต่พวกเขาไม่สามารถช่วยนายพิเนราซึ่งเป็นคนขับออกมาได้ทันเวลา  

เซบาสเตียน พิเนรา อดีตปธน.ชิลีสองสมัย เป็นอภิมหาเศรษฐีที่ชื่นชอบการขับเฮลิคอปเตอร์ด้วยตัวเอง