จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ จับมือผลักดันการค้า-การลงทุน หนุน FTA ไตรภาคี

28 พ.ค. 2567 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2567 | 10:18 น.

การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น ที่กรุงโซลวานนี้ (27 พ.ค.) จบลงด้วยการออกแถลงการณ์ร่วม ที่ยืนยันความมุ่งมั่นของทั้งสามฝ่ายในการเป็นหุ้นส่วนที่จะแสวงโอกาสเพิ่มการค้า การลงทุน และเร่งให้เกิดการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไตรภาคี โดยเร็ว

ใน การประชุมสุดยอด (Summit Meeting) สามฝ่ายระหว่าง ผู้นำเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้เมื่อวันจันทร์ (7 พ.ค.) ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี หรือตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2019 เป็นต้นมา ทางเกาหลีใต้ซึ่งเป็นเจ้าภาพ มีนาย ยุน ซุก-ยอล (Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดี เข้าร่วมการประชุม ขณะที่ฝ่ายจีนและญี่ปุ่นมีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม คือนายหลี่ เฉียง (Li Qiang) และนายฟุมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ตามลำดับ

การประชุมคร้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่จีนกำลังเผชิญความตึงเครียดทางการค้าทั้งกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) การหันมาจับมือสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นของจีนในครั้งนี้ จึงถูกมองว่าเป็นการหาทางออกที่เหมาะสมลงตัว โดยนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า ทั้งสามประเทศต้องปฏิเสธการตั้งกำแพงกีดกันทางการค้า และต้องยึดมั่นต่อกระแสโลกาภิวัตน์

"เราต่างควรต้องมองกันในฐานะหุ้นส่วนที่แสวงหาโอกาสในการพัฒนาร่วมกัน" นายหลี่ เฉียง กล่าว และยังเรียกร้องเกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ให้ต่อต้านการนำประเด็นด้านเศรษฐกิจและการค้ามาเป็นเครื่องมือเล่นเกมทางการเมือง หรือนำมาเป็นประเด็นเชื่อมโยงกับความมั่นคงระหว่างประเทศ

การประชุมระดับผู้นำเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 ที่กรุงโซล

ในส่วนหนึ่งของถ้อยแถลง นายกฯจีนยังเชิญชวนให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ปฏิเสธลัทธิกีดกันทางการค้า และการสร้างเหตุปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต

นายหลี่ เฉียง ยังกล่าวถึงความสำคัญของการลงทุนโดยภาคเอกชน โดยเขาระบุว่า บริษัทต่างชาติคือกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน และจีนก็จะเปิดประตูกว้างรับบริษัทต่างชาติ รวมทั้งบริษัทเกาหลีและบริษัทญี่ปุ่น ที่มั่นใจได้ว่า จีนจะขยายช่องทางการเข้าถึงตลาดจีนและเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการทำธุรกิจในประเทศจีน 

ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด ทั้งสำหรับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น 

แถลงการณ์ร่วม (joint declaration) ที่ได้รับการลงนามรับรองโดยผู้นำทั้งสามประเทศ และมีการเผยแพร่หลังการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ระบุถึงความร่วมมือในด้านหลักๆ ได้แก่

  • ความร่วมมือสามฝ่าย ทั้งสามผู้นำตกลงที่จะให้มีการประชุมหารือไตรภาคีทั้งระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรีเป็นวาระประจำ เพื่อให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อให้ประชาชนของทั้งสามประเทศได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ สำหรับการประชุมซัมมิตครั้งต่อไป ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศเจ้าภาพ
  • การแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน ทั้งสามประเทศมีเป้าหมายต้องการให้เกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเดินทางท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม หรือการศึกษา จำนวนรวม 40 ล้านคนภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) 
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทั้งสามฝ่ายยอมรับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในกระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อมุ่งหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emissions) ทั้งสามผู้นำให้คำมั่นจะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและให้ความสนับสนุนความพยายามของทุกภาคส่วนที่จะบรรลุเป้าหมายลดอุณหภูมิโลกลงภายใต้ข้อตกลงปารีส 
  • การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้นำเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ตกลงที่จะร่วมมือกันในการลดฝุ่นและพายุทรายในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการอนุรักษ์ทางทะเล และการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก และขจัดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย 
  • ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ทั้งสามฝ่ายตกลงที่จะสนับสนุนการปรึกษาหารือเพื่อเร่งกระบวนการเจรจาให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรีสามฝ่าย (trilateral Free Trade Agreement: FTA) ได้เร็วยิ่งขึ้น หลังจากที่เริ่มเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2019 นอกจากนี้ ยังยืนยันให้การสนับสนุนระบบการค้าที่เปิดกว้างและตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาการค้าที่เป็นพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) 

นอกเหนือจากการประชุมในระดับผู้นำแล้ว กิจกรรมคู่ขนานการประชุมซัมมิตครั้งนี้ ยังเป็นการจัดประชุมผู้นำทางธุรกิจซึ่งมีผู้บริหารของบริษัทจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน เข้าร่วมมากกว่า 200 ราย เพื่อสนับสนุนการค้า การจับคู่ธุรกิจ และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายซัพพลายเชนในภูมิภาค

ข้อมูลอ้างอิง