ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ประกาศแต่งตั้ง "อีลอน มัสก์" ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Tesla และ SpaceX ร่วมกับ "วิเวก รามาสวามี" นักธุรกิจด้านชีวเทคโนโลยี อดีตผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสายรีพับลิกัน ขึ้นเป็นผู้นำกระทรวงแห่งใหม่ที่เรียกว่า "กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล" (Department of Government Efficiency) หรือ "DOGE" ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงระบบราชการของสหรัฐฯ อย่างเป็นระบบ
แม้ว่าจะใช้ชื่อว่า กระทรวง แต่กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลจะไม่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยจะเป็นเพียงหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาแก่ทำเนียบขาวจากภายนอก และร่วมมือกับสำนักงานบริหารและงบประมาณ (OMB) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐฯ
การตั้ง DOGE เกิดจากวิสัยทัศน์ของมัสก์และรามาสวามีในการ "ปรับระบบราชการ" โดยตั้งใจลดกฎระเบียบที่เกินความจำเป็น และตัดงบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ในระบบราชการ ทั้งคู่จะปฏิบัติงานร่วมกับทีมทำเนียบขาวภายใต้การกำกับของทรัมป์โดยมีกรอบเวลาจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2569 หรือวันฉลอง 250 ปีการประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ
อีลอน มัสก์ กล่าวผ่าน X ว่าจะแสดงความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของ DOGE ผ่านการรายงานออนไลน์ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งความเห็นว่าควรตัดหรือรักษางบประมาณใด พร้อมให้คำมั่นว่าจะสร้างระบบแสดงการใช้จ่ายที่ "ไร้สาระ" ที่สุดของงบประมาณแผ่นดิน
วิเวก รามาสวามี ที่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีพรรครีพับลิกันก่อนจะถอนตัวและหันมาสนับสนุนทรัมป์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกับมัสก์ว่า "เราจะไม่ยอมปล่อยให้ระบบนี้หยุดเราได้" พร้อมด้วยธงชาติสหรัฐฯ ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการปฏิรูป
การจัดตั้ง DOGE ครั้งนี้ ถือเป็นการเปรียบเทียบกับ "โครงการแมนฮัตตัน" ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทรัมป์กล่าวว่า DOGE จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยความท้าทายไม่แพ้โครงการในตำนานนี้ เป้าหมายของ DOGE คือการทำให้รัฐบาลเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น โปร่งใส และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
กระบวนการทำงานของ DOGE แม้จะไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลโดยตรง แต่ก็อาจถูกตรวจสอบภายใต้กฎหมาย Federal Advisory Committee Act ซึ่งมีข้อกำหนดด้านความโปร่งใสของหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมัสก์และรามาสวามีไม่ได้ทำงานเป็นข้าราชการเต็มเวลา จึงไม่ต้องรายงานการเปิดเผยทรัพย์สินและผลประโยชน์เหมือนกับข้าราชการทั่วไป กล่าวคือบทบาทหน้าที่ของ อีลอน มัสก์ และรามาสวามี จะมีลักษณะแบบ "ไม่เป็นทางการ" ไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภา ดังนั้น อีลอน มัสก์ จึงสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารเทสลา SpaceX และแพลตฟอร์ม X ต่อไปได้
การเลือก อีลอน มัสก์ และ วิเวก รามาสวามี ซึ่งทั้งคู่ไม่มีประสบการณ์ในภาครัฐ และดำเนินงานในฐานะผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความกังวลจากบางฝ่ายที่ตั้งคำถามว่าการดำเนินการของ DOGE จะถูกควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักจริยธรรมหรือไม่ ด้านองค์กร Public Citizen ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแต่งตั้งมัสก์โดยกล่าวว่า เขาไม่เคยมีประสบการณ์ด้านประสิทธิภาพในภาครัฐ อีกทั้งบริษัทของเขาหลายครั้งยังละเมิดกฎเกณฑ์ของภาครัฐ นอกจากนี้ ความรับผิดชอบที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมทางกฎหมายอย่างชัดเจนอาจเปิดช่องให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้
ทั้งนี้ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ในรัฐมิชิแกนว่ามัสก์เคยบอกเขาว่าความสิ้นเปลืองในรัฐบาลนั้นเป็นเรื่อง "บ้า" และการแต่งตั้งมัสก์ในครั้งนี้ก็เพื่อให้เขาเข้ามาลดค่าใช้จ่ายในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน อย่างไรก็ดี ทรัมป์กล่าวว่า แม้มัสก์จะไม่สามารถทำงานเต็มเวลาได้ เนื่องจากภารกิจในบริษัทอื่นๆ เช่น Tesla และ SpaceX แต่การสนับสนุนในรูปแบบพาร์ทไทม์ของมัสก์ก็เพียงพอที่จะช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณได้มาก