ท่ามกลางสมรภูมิการค้าระลอกใหม่ที่ลุกลามจากคำประกาศเก็บภาษีครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จีนตัดสินใจพลิกแนวทางจากการใช้ไม้นวมเป็นกำปั้นเหล็ก พร้อมประกาศจุดยืนชัดว่า “ไม่มีวันยอมแพ้” ต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ อีกต่อไป โดยจัดวางข้าราชการในกรุงปักกิ่งเข้าสู่ “ภาวะพร้อมรบ” พร้อมระดมกำลังทุกหน่วยงานอย่างเข้มข้น
รายงานพิเศษของรอยเตอร์สที่อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดเผยว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนระดมทีมงานด้านโฆษณาชวนเชื่อเป็นแนวหน้าในการตอบโต้ โดยมีการปล่อยคลิปคำปราศรัยของเหมา เจ๋อตง อดีตผู้นำจีนที่กล่าวว่า “เราจะไม่มีวันยอมแพ้” ลงในสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ได้รับคำสั่งให้ยกเลิกวันหยุดและเปิดโทรศัพท์มือถือตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อพร้อมรับมือทุกสถานการณ์
ก่อนหน้านี้ จีนพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและสานสัมพันธ์กับรัฐบาลทรัมป์ โดยมองว่าความร่วมมือทางการค้าแบบ “win-win” จะนำมาซึ่งประโยชน์ร่วมกัน และยังมีความหวังว่าอาจสามารถบรรลุข้อตกลงใหญ่ที่รวมถึงประเด็นอย่าง TikTok หรือแม้กระทั่งไต้หวัน แต่เมื่อทรัมป์เปิดฉากภาษีครั้งใหญ่ในวันที่ 2 เมษายน พร้อมระบุว่าจะ “หยุดประเทศอย่างจีนไม่ให้ขูดรีดสหรัฐฯ” จีนก็เปลี่ยนท่าทีโดยสิ้นเชิง
รัฐบาลปักกิ่งจึงตอบโต้ในทันทีด้วยการออกมาตรการภาษีสวนกลับครอบคลุมสินค้าสหรัฐฯ ก่อนที่มาตรการภาษีฝั่งทรัมป์จะมีผลบังคับใช้ โดยเลือกวันที่ 4 เมษายนซึ่งตรงกับวันหยุดของจีนให้สอดคล้องกับการเปิดตลาดวอลล์สตรีต ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตกฮวบทันที
ในด้านการทูต จีนเร่งดำเนินกลยุทธ์ใหม่ด้วยการส่งจดหมายถึงรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ตกเป็นเป้าเดียวกับจีนจากนโยบายภาษีของทรัมป์ ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อขอความร่วมมือและโน้มน้าวให้ร่วมต่อต้านแนวทางของสหรัฐฯ พร้อมเสนอถ้อยแถลงร่วมในเวที G20 ที่ยืนยันหลักการพหุภาคีทางการค้า อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของจีนไม่ได้กล่าวถึงข้อกังวลของนานาชาติในประเด็นปัญหาอุปทานส่วนเกิน นโยบายอุดหนุน และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
แม้สถานการณ์จะดูดุเดือด แต่ภายในจีนเองก็มีความพยายามหาทางออกโดยไม่ให้ความขัดแย้งปะทุไปไกลกว่านี้ เช่น การเสนอให้ใช้มาตรการตอบโต้แบบเจาะจง เช่น การระงับความร่วมมือด้านเฟนทานิล การจำกัดนำเข้าสินค้าเกษตรและภาพยนตร์จากสหรัฐฯ มากกว่าการขึ้นภาษีสินค้าทั้งหมด
ขณะเดียวกัน จีนยังเดินหน้าควบคุมกระแสในประเทศไม่ให้ตื่นตระหนก โดยสื่อทางการตีพิมพ์บทบรรณาธิการเรียกร้องให้ประชาชนรักษาความมั่นใจ และเร่งส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศอย่างเต็มที่เพื่อทดแทนรายได้จากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบ โดยถือว่าศึกใหญ่ที่แท้จริงคือ “สมรภูมิภายในประเทศ” ที่เศรษฐกิจจีนยังเผชิญกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์
การตอบโต้ในครั้งนี้ยังดึงอารมณ์ชาตินิยมมาหนุนแนวทางรัฐบาล โดยมีการเผยแพร่คลิปเหมา เจ๋อตงจากปี 1953 ระหว่างสงครามเกาหลี ที่ระบุว่า “ไม่ว่าสงครามจะยาวนานแค่ไหน เราจะไม่มีวันยอมแพ้ เราจะสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์”
ความพยายามทางการทูตของจีนยังถูกสกัดอย่างต่อเนื่อง เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ พยายามขอพบรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โก รูบิโอ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ไมค์ วอลซ์ ระหว่างการประชุม UN ในนิวยอร์ก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เช่นเดียวกับการติดต่อขอพูดคุยกับอีลอน มัสก์ ที่ไม่เกิดขึ้นจริง
ในขณะที่ทำเนียบขาวส่งสัญญาณว่าควรเป็นเจ้าหน้าที่ระดับการค้าที่เจรจากับจีนแทนที่จะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ผู้นำจีน สี จิ้นผิง ก็ยังไม่แสดงท่าทีว่าจะติดต่อโดยตรงกับทรัมป์ โดยมีรายงานว่า ทุกครั้งที่สหรัฐฯ ถามฝ่ายจีนว่า สี จิ้นผิงจะโทรหาทรัมป์หรือไม่ คำตอบที่ได้รับคือ “ไม่”
ท่ามกลางช่องทางการสื่อสารระดับสูงที่ตึงเครียด การพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับล่างของทั้งสองฝ่ายยังคงเกิดขึ้นบ้าง แม้กลุ่มทำงานหลายชุดที่ตั้งขึ้นในยุคโจ ไบเดนเพื่อคลี่คลายข้อพิพาททางพาณิชย์ การคลัง และการทหาร จะถูกระงับไปแล้ว
จีนใช้บทเรียนจากสงครามการค้ารอบแรกช่วงแรกของรัฐบาลทรัมป์มาปรับใช้ โดยเตรียมมาตรการโต้กลับล่วงหน้า เช่น การกำหนดภาษี การจำกัดบริษัทอเมริกันกว่า 60 แห่ง และการจำกัดส่งออกแร่หายาก เพื่อแสดงว่าพร้อมยืดเยื้อไม่ถอย
แม้จีนจะไม่ต้องการทำสงครามการค้า แต่ก็ไม่กลัวที่จะเผชิญหน้าอย่างเต็มรูปแบบ กลยุทธ์ที่ประกาศใช้ในครั้งนี้ชัดเจนว่าไม่ใช่การหวังข้อตกลง แต่มุ่งแสดงจุดยืนของชาติต่อโลกว่า จีนพร้อมรับมืออย่างแข็งกร้าวเมื่อถูกท้าทาย และจะไม่ยอมก้มหัวให้แรงกดดันทางเศรษฐกิจใดๆ ทั้งสิ้น