เก็บตกจากสมุทรสาคร...ประเทศที่สองของอองซาน ซูจี

28 มิ.ย. 2559 | 00:30 น.
“เมซู จาม่าบาเซ”...

ขอให้แม่ซูอายุยืนนาน....เสียงโห่ร้องของผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมานับหมื่นคนดังกึกก้องไปทั่วบริเวณตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร ตัวเลขประมาณการของเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลคาดว่ามีจำนวนฝูงชนราวหมื่นคน พร้อมตัวเลขสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศที่ยกขบวนกันมาทำข่าวอีกกว่า 400 ถึงเกือบ 500 คน

สภาพอากาศของวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2559 ดูแปรปรวนอบอ้าวเฉกเช่นเดียวกับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในขณะนี้

ตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. ที่มีการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่มาคอยต้อนรับนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และการลงทะเบียนสื่อมวลชน อากาศยังร้อนมาก แสงแดดจัด แรงงานเมียนมาที่มารอคอยต้อนรับนางอองซาน ซูจี ในฐานะ “สัญญลักษณ์แห่งความหวัง” ของพวกเขา ต่างยืนเบียดเสียดและพยายามจะบุกเข้าไปยังบริเวณหอประชุมตลาดทะเลไทย ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งอองซานซูจีมีกำหนดการที่จะมาพบแรงงานในระบบประมาณ 500 คนที่จัดไว้ให้มาพบปะ

ก่อนที่ความวุ่นวายจะขยายตัวออกไป เจ้าหน้าที่ซึ่งมารักษาความปลอดภัยก็ได้จัดทยอยให้แรงงานเมียนมาส่วนหนึ่งสามารถเข้าไปยืนรอต้อนรับได้ ที่บริเวณลานจอดรถด้านหน้าทางขึ้นห้องประชุม โดยกำหนดจุดกั้นไว้เพื่อรักษาความปลอดภัย

กระทั่งเวลา 16.20 น. ขบวนรถของนางซูจี ซึ่งเดินทางมาจากโรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ (ที่พักหลังเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงบ่าย) ก็มาถึงที่ด้านหน้าหอประชุมตลาดทะเลไทย มีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย พ.อ.กิตติ สมสนั่น ผบ.ส. 1, พ.อ.จักราวุธ สินพูลผล รอง ผอ.กอ.รมน จ.สมุทรสาคร, นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ,นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ฯลฯ คอยให้การต้อนรับ

เสียงโห่ร้องดังกึกก้องไปทั่ว จนนางซูจีได้เข้าไปในห้องประชุม และเริ่มพิธีการกล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ พร้อมทักทายถามทุกข์สุขต่อแรงงานเมียนมาจากโรงงานประมาณ 5 แห่ง ที่ถูกจัดระเบียบให้นั่งกันอย่างเรียบร้อยกว่าชั่วโมง...เพื่อรอคอยการพบเธอ

ขณะที่บริเวณด้านนอกฝูงชนทั้งหลายก็ยังเฝ้ารอการกลับออกมาของนางซูจี จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.00 น. พยับฝนที่ตั้งเค้ามาพักใหญ่ก็เทกระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่ฝูงชนนับพันคนที่ยืนรออยู่กลางลานจอดรถก็ยังคงยืนหยัดไม่ยอมถอยหนี โดยต่างก็ยืนเปียกปอนอยู่กลางสายฝนอย่างทั่วหน้า เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการแล้ว นางซูจีได้ออกมายืนที่บริเวณหน้าต่างชั้น 2 ของห้องรับรองข้างห้องประชุมใหญ่ โดยพยายามเปิดหน้าต่างออกมาโบกมือทักทายฝูงชนที่มารอคอยพบอยู่ด้านนอก แต่เนื่องจากกระแสฝนแรงมาก จึงทำให้ไม่สามารถทักทายได้อย่างทั่วถึง

เวลาประมาณ 17.20 น. ขบวนของนางซูจีจึงลงมาด้านล่างของอาคารห้องประชุมฯ และทักทายแรงงานชาวเมียนมาด้วยสภาพที่วิบากชุลมุนท่ามกลางสายฝน จากนั้นจึงขึ้นรถกลับที่พักในกรุงเทพฯ โดยมีฝูงชนบางส่วนวิ่งตามออกไปส่งถึงปากทางตลาดทะเลไทย ท่ามกลางสายตาของหลายฝ่ายที่มองตามไปด้วยความตื่นเต้น

การพบปะในห้องประชุม

นอกจากการกล่าวสุนทรพจน์แสดงความห่วงใยต่อแรงงานชาวเมียนมา นางอองซาน ซูจี ยังแสดงความประสงค์ที่อยากจะรับรู้ปัญหาของผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบโรงงาน แรงงานในบ้าน ลูกจ้าง และแรงงานนอกระบบอื่นๆ เพื่อที่จะได้หาทางช่วยเหลือและหาทางแก้ไขต่อไป โดยทางเว็บไซต์ข่าวสาครออนไลน์ ได้ถอดความการซักถามระหว่างนางซูจีกับแรงงานที่มารอพบเป็นภาษาไทยได้ดังนี้ แรงงานชาวเมียนมาได้สอบถาม เรื่องต่างๆ เช่น สวัสดิการแรงงานในเรื่องของบัตรสุขภาพ ซึ่งนางซูจีกล่าวว่า จำเป็นต้องมี เพื่อประกันสิทธิให้แรงงานและบุตร โดยรัฐบาลไทยได้เปิดโอกาสให้เข้าถึงสวัสดิการดังกล่าว เรื่องพาสปอร์ตหมดอายุ ที่จะต้องเดินทางไปต่ออายุถึงประเทศต้นทาง ซึ่งไม่ได้รับความสะดวก จึงฝากช่วยประสานให้ชาวเมียนมาสามารถต่อพาสปอร์ตในประเทศไทยได้ทันที อีกทั้งยังมีในเรื่องของการขออนุญาตให้ลูกหลานชาวเมียนมา ที่อายุไม่ถึง 18 ปี สามารถทำงานช่วยเหลือครอบครัวได้ เพราะปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่อนุญาต

ทั้งนี้ นางซูจีกล่าวว่า จะมีการออกเอกสารรับรองสัญชาติ หรือหนังสือแสดงตัวบุคคล (CI – Certificate of Identity) ให้เป็นพาสปอร์ตชั่วคราวภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อให้แรงงานเมียนมาทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย และใช้ในการเดินทางในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยได้ และเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานเมียนมาต่อไป

ขณะที่ นายอู เต็ง ส่วย รัฐมนตรีแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากรเมียนมา ตอบคำถามเกี่ยวกับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชาวเมียนมาในไทย ว่าจะอยู่ในบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ที่จะลงนามร่วมกับรัฐบาลไทยในวันที่ 24 มิ.ย. 2559 ซึ่งจะครอบคลุมความต้องการของแรงงานเมียนมา และจะทำให้เอกสารนี้ถึงมือแรงงานเองไม่ผ่านนายหน้า ซึ่งจากนี้จะไม่ใช้กระบวนการนายหน้าเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารใดๆ อีก

เสียงจากแรงงานเมียนมา

ทางด้านมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ และนายสุรชัย หรือนาย KO MIN TUN ตัวแทนแรงงานเมียนมา ได้ทำหนังสืออย่างไม่เป็นทางการเสนอต่อนางซูจี เพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ด้านแรงงาน เช่น การเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานเพิ่มเติม ความสะดวกในการต่อใบอนุญาตและพาสปอร์ต การเปลี่ยนย้ายนายจ้างที่เปิดให้กว้างขึ้น สิทธิค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย การเดินทางข้ามเขตของผู้ถือบัตรสีชมพูซึ่งควรเปิดกว้างกว่าที่เป็นอยู่ การได้สิทธิด้านการประกันสังคมทัดเทียมกับแรงงานไทย การแก้ปัญหาเรื่องเด็กที่ติดตามพ่อแม่มาอยู่ประเทศไทย การแก้ปัญหาเรื่องนายหน้าที่มาตัดตอนหาผลประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน การเน้นให้นายจ้างใส่ใจและปฏิบัตตามกฎหมายต่อแรงงานเมียนมา เป็นต้น

“รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาจะต้องมาช่วยกันดูแลด้านแรงงาน เพื่อลดข้อจำกัดทั้งหลาย และเพื่อทำให้แรงงานที่ผิดกฎหมายได้อยู่ในสภาพที่ถูกกฎหมาย โดยอาจจะต้องมีการทำงานในระดับภาคีหรือคณะมนตรี โดยเฉพาะในระดับมาตรฐานอาเซียน ควรมองว่าแรงงานเมียนมาเป็นแรงงานในระดับพัฒนาฝีมือแรงงานได้ และเมื่อเขาได้รับการพัฒนาที่ดีแล้ว เขาก็สามารถกลับไปเป็นแรงงานฝีมือในประเทศของเขาได้ด้วย”

ทางด้านนางสาวมิสซัน พนักงานชาวเมียนมาของโรงงานปลากระป๋อง บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า เธอรู้สึกดีใจมากที่ได้มาพบกับนางซูจีในวันนี้ เพราะนางซูจีคือความหวังในการเปิดประเทศของเมียนมา เป็นความหวังเช่นเดียวกับอูอองซานบิดาของนางซูจี และถ้าเปิดประเทศเมียนมาให้เจริญเหมือนประเทศไทยได้ แรงงานที่อยากกลับ จะได้กลับไป ส่วนใครที่ไม่มีภาระครอบครัวทางโน้น หรือสมัครใจจะทำงานในประเทศไทยต่อไปก็ทำงานไป ถ้าทั้งสองประเทศเจริญทัดเทียมกัน การไปมาหาสู่กันได้สะดวกขึ้น

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการ

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า การเดินทางมาสมุทรสาครของนางซูจี เป็นกำลังใจให้กับแรงงานชาวเมียนมาเป็นอย่างมาก ซึ่งแรงงานเมียนมาในประเทศไทยก็คงจะต้องอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานในเมียนมาให้ดีขึ้น ขณะนี้แรงงานที่มีอยู่คงยังไม่อยากกลับประเทศ และคงไม่มีปัญหารุนแรงใดๆเกิดขึ้น โดยต่อไปจำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านฝีมือแรงงานให้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ

ด้านนายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาครกล่าวว่า การทำ MOU ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศด้านแรงงานอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น จะช่วยให้แรงงานเมียนมาได้รับความชอบธรรม การทำใบอนุญาตต่างๆและการพิสูจน์สัญชาติก็จะเร็วขึ้น หากทั้ง 2 ประเทศสามารถส่งต่องานให้กันได้อย่างรวดเร็ว ก็จะไม่เปิดช่องว่างให้เกิดการหาประโยชน์ใดๆ และแรงงานต่างด้าวเมื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะมีคุณภาพในการทำงานดีตามไปด้วย ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ทั้ง 2 ประเทศจะต้องร่วมมือกันจึงจะเกิดขึ้นได้สรุป

การเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ของนางซูจี น่าจะเป็นนิมิตรหมายอันดีของการใช้แรงงานเมียนมาในประเทศไทย และคงช่วยให้เราไม่เดินเข้าสู่จุดของความขัดแย้งด้านแรงงานหรือจลาจลใดๆ ในวันข้างหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559