การเสริมสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคผ่านศูนย์ความรู้ต้านโกงจุฬาฯ

14 ก.พ. 2567 | 11:43 น.

การเสริมสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคผ่านศูนย์ความรู้ต้านโกงจุฬาฯ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,966 หน้า 5 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ 2567

ศูนย์ความรู้เพื่อความ ร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) ซึ่งดำเนินงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มุ่งหวังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ทั้งในแง่วิชาการและปฏิบัติการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย พร้อมทั้งพัฒนาและขยายเครือข่ายความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ภารกิจที่ผ่านมา นอกเหนือจากการจัดเวทีเสวนา และการประชุมทางวิชาการต่างๆ รวมถึงงานประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยนวัตกรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2566 และจะมีขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายนปีนี้ 

KRAC ได้จัดการรวบรวมข้อมูลความรู้เรื่องการคอร์รัปชันในประเทศไทยอย่างครบถ้วนเพื่อเผยแพร่ในเว็ปไซต์ที่กำลังจะเปิดตัวในต้นเดือนมีนาคมนี้

 

ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับนานาชาติ รวมถึงสถาบันและนักวิจัยชั้นนำอย่าง Professor Matthew Stephenson จาก Harvard Law School และ Professor Ariane Lambert-Mogiliansky จาก Paris School of Economics 

รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกันอย่าง OECD, UNDP, UNODC, และ Transparency International (TI) เพื่อช่วยเสริมสร้างฐานความรู้และนวัตกรรมในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

 

ล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม 2566 KRAC ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ SEA Civil Society Organization Integrity Workshop ที่จัดขึ้นโดย UNODC เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาค 

การประชุมนี้เน้นยํ้าการสร้างความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและแนวปฏิบัติที่ดีในด้านต่างๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูล การจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ การคุ้มครองผู้แจ้ง เบาะแส และความโปร่งใสในภาคธุรกิจ

ที่เป็นที่น่ายินดีคือ KRAC ได้รับความไว้วางใจจากผู้เข้าร่วมประชุม ให้เป็นตัวกลางจัดการเครือข่ายความร่วมมือขององค์กรด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามชื่อและภารกิจหลักของ KRAC เลย 

โดยเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA-ACN : Southeast Asian Anti-Corruption Network) นี้ ประกอบไปด้วย 13 องค์กรภาคประชาสังคม จาก 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เช่น Rasuah Busters, Transparency International Cambodia, Center to Combat Corruption and Cronyism (C4 Center), Government Watch (G-Watch), International Collective Action Network (I-CAN Fight Corruption), Core Group Transparency/PWYP-Timor-Leste  (CGT/PWYP-TL), Hand Social Enterprise, Indonesia Corruption Watch, และ Transparency International Malaysia เป็นต้น

โดยเป้าหมายครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งจะนำมาสู่การปฏิรูปให้เกิดความโปร่งใส และ ความรับผิดชอบ 

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้เกิดนโยบายที่มาจากเสียงที่หลากหลาย และมีการพูดคุยเพื่อหาจุดร่วมของปัญหาคอร์รัปชัน ที่หลายประเทศในทุกภูมิภาคต้องเผชิญ เพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาเหล่านั้น

                 การเสริมสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคผ่านศูนย์ความรู้ต้านโกงจุฬาฯ

ความคืบหน้าจนถึงปัจจุบัน ได้เริ่มมีการประสานติดต่อองค์กรต่างๆ ให้เข้าร่วมกลุ่ม email และ whatsapp เพื่อแบ่งปันข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ และได้มีการจัดประชุมวงย่อยทาง online ไปแล้วสำหรับเรื่องความ
ซื่อสัตย์ในการดำเนินธุรกิจ (Business Integrity) และ ข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน (Open Data for Anti-Corruption) 

และองค์กรทั้งหลายในเครือข่าย ก็จะได้มาพบหน้ากันในการประชุมวิชาการว่าด้วยนวัตกรรมเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันครั้งที่ 2 ที่ KRAC จะ จัดร่วมกับ ป.ป.ช. UNODC และ CAC ในวันที่ 7-8 มิถุนายนนี้ 

ดังนั้น ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น จะไม่ใช่เพียงพบกันครั้งเดียวแล้วหายไป แต่จะมีความต่อเนื่องเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น

ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการดำเนินงานนี้คือ การเกิดเครือข่ายที่มีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและแนวปฏิบัติที่ดี 

การขับเคลื่อนประเด็นการดำเนินการร่วมกันในประเทศสมาชิกและระดับภูมิภาค และการขยายการดำเนินงานของเครือข่ายทั้งในจำนวนสมาชิกและการดำเนินงานในระดับภูมิภาค

KRAC จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเครือข่ายนี้ โดยเป็นผู้ประสานงานหลักและผลักดันให้การดำเนินงานเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การสนับสนุนของ UNODC 

KRAC เชื่อมั่นว่า การเคลื่อนไหวนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย และระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็งสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชันในอนาคตอีกด้วย