แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มหภาค และโลกแห่งความเป็นจริง

27 มี.ค. 2567 | 04:45 น.

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มหภาค และโลกแห่งความเป็นจริง : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.มนชยา อุรุยศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,978 หน้า 5 วันที่ 28 - 30 มีนาคม 2567

เศรษฐศาสตร์มหภาค (macroeconomics) เป็นการศึกษาผลผลิตในรูปของสินค้าและบริการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวของผลผลิต อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน ดุลบัญชีการชำระเงิน และ อัตราแลกเปลี่ยน

เศรษฐศาสตร์มหภาคยังเกี่ยวโยงกับทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว และความผันผวนของเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งก่อให้เกิดวัฏจักรธุรกิจ (business cycle)

 

เศรษฐศาสตร์มหภาคเน้นที่พฤติกรรมทางเศรษฐกิจ และนโยบายที่กระทบการบริโภคและการลงทุน ค่าเงิน ดุลการค้า การเปลี่ยนแปลงในค่าจ้างและระดับราคา นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง อัตราดอกเบี้ย ดุลการคลัง และระดับหนี้ของประเทศ 

เพื่อที่เราจะสามารถเข้าใจและอธิบายประเด็นปัญหาที่สำคัญของเศรษฐกิจได้ เราจำเป็นที่จะต้องลดรายละเอียดที่ซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจลง ให้เหลือแต่เฉพาะสิ่งที่มีความจำเป็นเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เรากำลังสนใจจริงๆ

 

 

 

 

 

กล่าวคือ เราจะข้ามรายละเอียดของพฤติกรรมของแต่ละหน่วยการตัดสินใจ เช่น ครัวเรือน บริษัท หรือการกำหนดราคาในแต่ละตลาดโดยเฉพาะ ซึ่งที่กล่าวถึงนี้คือ หัวข้อการศึกษาในแขนงของเศรษฐศาสตร์จุลภาค (microeconomics)

ในเศรษฐศาสตร์มหภาค เรามองว่าตลาดสำหรับสินค้าต่างชนิดกัน เช่น ตลาดของสินค้าเกษตรกรรมและรถยนต์รวมเป็นตลาดสินค้า (goods market) เดียวกัน

ตลาดแรงงาน (labor market) ก็เช่นกันโดย เราไม่สนใจความแตกต่างระหว่างแรงงานมีฝีมือกับแรงงานไร้ฝีมือ เรามีเพียงตลาดแรงงานเดียว หรือ ตลาดสินทรัพย์ (assets market) ไม่สนใจว่าเป็นตลาดซื้อขายหุ้นปตท หรือตลาดซื้อขายภาพวาดหายาก เป็นต้น

ประโยชน์ของการละเว้นรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ทำให้เราสามารถเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างแต่ละตลาดใหญ่ๆ คือ ตลาดสินค้า ตลาดแรงงาน และ ตลาดสินทรัพย์ได้อย่างชัดเจน

กล่าวคือ เราต้องการที่จะเรียนรู้ว่า เศรษฐกิจมหภาคทำงานอย่างไร เพื่อที่จะสามารถตอบคำถามให้ได้ว่า ทำอย่างไรเศรษฐกิจจึงจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งก็จะเกี่ยวโยงไปยังคำถามที่สำคัญ อาทิ รัฐบาลจะสามารถและ/หรือควรที่จะเข้าแทรก แซงระบบเศรษฐกิจหรือไม่

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง รวมถึงผู้ที่ได้รับรางวัล Nobel อาทิ Milton Friedman, Franco Modigliani, Robert Solow, James Tobin, Robert Lucas เป็นต้น ยังมีความแคลงใจกับประสิทธิภาพของการแทรกแซงจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล

แบบจำลองเป็นตัวแทนของโลกแห่งความเป็นจริง แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ดี จะต้องอธิบายพฤติกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างถูกต้อง และไม่ให้ความสนใจกับสิ่งที่มีความสำคัญน้อยกว่า

ในทางเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมที่ซับซ้อนของคนเป็นล้านล้านคน บริษัทเป็นล้านล้านบริษัท และตลาดเป็นจำนวนมาก จะถูกแทนที่ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์เพียงสองสามสมการ หรืออยู่ในรูปของกราฟง่ายๆ

สิ่งที่สำคัญคือ การเลือกแบบจำลองให้เหมาะสมกับการตอบคำถามแต่ละคำถาม ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการตอบคำถามทางเศรษฐศาสตร์ต่อไปนี้

1.ท่านคิดว่ามาตรฐานการครองชีพ (standard of living) ของรุ่นหลานของท่าน จะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับมาตรฐานการครองชีพของคนรุ่นท่าน 

2.อะไรเป็นสาเหตุของเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) ของประเทศเยอรมนี ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 

3.ทำไมอัตราการว่างงานของประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปลายปี 1982 ถึงเพิ่มขึ้นสูงมากเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่อัตราการว่างงานของประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ราว 6% มาตลอดก่อนหน้านั้น 

ก่อนที่เราจะตอบคำถามแต่ละคำถามข้างต้นนี้ เราจำเป็นจะต้องเลือกแบบจำลอง ที่เหมาะสม เพื่อตอบคำถามที่ 1 ซึ่งเป็นคำถามที่ครอบคลุมช่วงระยะเวลาที่ยาวนานเป็นรุ่นอายุ

                          แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มหภาค และโลกแห่งความเป็นจริง

 

ดังนั้น เราจำเป็นต้องใช้แบบจำลองของเศรษฐกิจระยะยาวมาก (very long run model) ในการตอบคำถามดังกล่าว ในระยะยาวเช่นนั้น ไม่มีอะไรสำคัญมากเท่ากับการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ๆ และการสะสมของทุน

ถ้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์จากนี้ไป รายได้ประชาชาติของประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นมาก กว่า 2 เท่าภายในช่วง 2 รุ่นอายุ ดังนั้นรุ่น หลานของท่าน ก็จะมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงกว่าท่านสองเท่าแน่นอน 

 

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มหภาค และโลกแห่งความเป็นจริง

 

เพื่อตอบคำถามที่ 2 การที่เกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) แทบจะมีสาเหตุเดียวจากการพยายามเพิ่มอุปสงค์รวมของประเทศ โดยรัฐบาลสั่งการให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาจำนวนมหาศาล

สังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงในระดับราคาเพียงเล็กน้อยอาจจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่การเปลี่ยนแปลงของระดับราคาอย่างมหาศาล มีสาเหตุมาจากการที่เส้นอุปสงค์รวม (aggregate demand curve, AD) เคลื่อนไปทางขวาอย่างมาก โดยแทบไม่มีการเคลื่อนไหวของเส้นอุปทานรวมในระยะยาว (long run aggregate supply curve, LRAS)

ดังนั้น แบบจำลองที่จะนำมาใช้เพื่อตอบคำถามนี้จะเป็นแบบจำลองอุปสงค์รวมและอุปทานรวมในระยะยาว ซึ่งมีเส้นอุปทานรวมระยะยาวเป็นเส้นตั้งฉาก (vertical) นั่นเอง 

เพื่อที่จะตอบคำถามที่ 3 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ของตัวแปรทางเศรษฐกิจ ในที่นี้คือ การว่างงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถถูกอธิบายโดยแบบจำลองเศรษฐกิจระยะสั้น ที่มีเส้นอุปสงค์รวม และเส้นอุปทานรวมระยะสั้น (short run aggregate supply curve, SRAS) เป็นเส้นแนวนอน (horizontal)

ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา พยายามที่จะลดอัตราเงินเฟ้อลง โดยการเข้าไปลดอุปสงค์รวมในระยะสั้น การลดอุปสงค์รวมจะไปลดการผลิตลงและส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการว่างงานอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว

 

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มหภาค และโลกแห่งความเป็นจริง

 

จะเห็นได้ว่า การตอบคำถามสามคำถามข้างต้นนั้นใช้แบบจำลองต่างกันในการตอบ ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องรู้ว่าเราจะใช้แบบจำลองใด เมื่อใด กล่าวคือ การวิเคราะห์เกี่ยวกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจข้ามรุ่นอายุ นโยบายการเงิน เป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญเลย

หรือถ้าเรากำลังจะตอบคำถามเกี่ยวกับเงินเฟ้อขั้นรุนแรงของประเทศเยอรมัน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคำถามนี้เช่นกัน 

 

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มหภาค และโลกแห่งความเป็นจริง

 

กล่าวโดยสรุป พฤติกรรมของเศรษฐกิจในระยะยาวมาก (very long run model) ใช้ทฤษฎีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เน้นการขยายตัวของประสิทธิภาพการผลิตของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ การศึกษา

เศรษฐกิจในระยะยาวมาก เน้นที่การสะสมของทุน และการพัฒนาทางเทคโนโลยี นั่นคือ ปัจจัยการผลิตทั้งทุนและแรงงานจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในแบบจำลองระยะยาวมากนี้

แน่นอนว่า ระดับราคาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด หากจะเปรียบเทียบไป เศรษฐกิจในระยะยาวอาจจะเหมือนการถ่ายวีดีโอที่มีภาพเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ (จากการที่ทุนและทางเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ)

แต่เมื่อเราพิจารณาแบบจำลองเศรษฐกิจระยะยาว (long run model) เปรียบเสมือนการเลือกรูปถ่ายของแบบจำลองระยะยาวมากมา 1 ช้อท โดยที่แต่ละช้อทนั้น ทุนและระดับเทคโนโลยีไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจัยการผลิตที่คงที่และเทคโนโลยีที่คงที่ จะไปกำหนดประสิทธิภาพการผลิตของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเราเรียกระดับผลผลิตนี้ว่า ระดับผลผลิตที่ศักยภาพ (potential output หรือ Y) ดังแสดงในกราฟ

ในระยะยาวอุปทานของสินค้าและบริการ จะเท่ากับระดับผลผลิตที่ศักยภาพ ราคาและเงินเฟ้อในช่วงเวลานี้จะถูกกำหนดโดยความผันผวนทางด้านอุปสงค์ สรุปคือ ราคาจะเปลี่ยนแปลงอย่างเสรี แต่ระดับผลผลิตคงที่ เพราะปัจจัยการผลิตและระดับเทคโนโลยี ถูกกำหนดให้คงที่ในระยะยาว

อย่างไรก็ดี เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนการพิจารณามาสู่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในระยะสั้น ระดับราคาในระยะสั้นจะไม่ยืดหยุ่น ดังนั้น ผลผลิตจะเป็นตัวที่เปลี่ยนแปลงแทน

กล่าวคือ ความผันผวนในอุปสงค์จะเป็นตัวไปกำหนดว่าจะมีการผลิตจำนวนเท่าไหร่ และส่งผลต่อระดับผลผลิต YSR และการจ้างงานในที่สุด ซึ่งในระยะสั้น นโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาคจะสามารถเข้ามามีบทบาทได้มากที่สุด