"พิมพ์ภัทรา"ปักหมุด"นครศรีเมืองโกโก้"ปั้นรายได้ 4 พันล้าน

04 ธ.ค. 2566 | 11:55 น.

"พิมพ์ภัทรา"ปักหมุด"นครศรีเมืองโกโก้"ปั้นรายได้ 4 พันล้าน พร้อมเดินหน้ายกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ทั่วประเทศสู่การเป็นโกโก้ฮับเมืองไทย สั่งดีพร้อมและสศอ.ทำแผนปฏิบัติงานด่วน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ตรวจเยี่ยมเกษตรกรและผู้ประกอบการโกโก้ ว่า จะเร่งยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ทั่วประเทศสู่การเป็นโกโก้ฮับเมืองไทย โดยจะชูจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นนครศรีเมืองโกโก้ ผลักดันเป็นอีกพืชเศรษฐกิจหลักของไทย 

ทั้งนี้ คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ทำงานร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำแผนปฏิบัติการอุตสาหกรรมโกโก้ไทย เพื่อขับเคลื่อนทั้งระยะสั้น กลาง ยาว เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพส่งออกสู่ตลาดโลก ลดนำเข้า โดยแผนฯจะเสร็จภายใน 3 เดือน มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับแนวทางจัดทำแผนฯ เบื้องต้นนั้น จะกำหนดให้ภาคใต้ จ.ศรีธรรมราช มุ่งสู่โกโก้ฮับภายใต้ชื่อนครศรีเมืองโกโก้ เพราะเป็นแหล่งผลิตโกโก้คุณภาพดีของไทย พื้นที่ปลูกโกโก้กว่า 1,600 ไร่ อันดับหนึ่งของประเทศ มีเกษตรกรปลูกกว่า 3,000 ครัวเรือน 

โกโก้ได้รางวัลระดับโลก อาทิ แบรนด์ ภราดัย คว้ารางวัลพิเศษระดับทองสำหรับช็อกโกแลตบาร์ 75% จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเภทช็อกโกแลตที่ผู้ผลิตมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้จะสนับสนุนจ.สระแก้ว เป็นฐานโรงงานแปรรูปโกโก้ขนาดเล็ก เพราะมีพื้นที่ปลูกโกโก้มากเช่นกัน

"พิมพ์ภัทรา"ปักหมุด"นครศรีเมืองโกโก้"ปั้นรายได้ 4 พันล้าน

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพืชโกโก้ ถูกจับตามองเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจใหม่และได้รับกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้น สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมี่ยม 

รวมถึงเทรนด์รักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม หรือ ซุปเปอร์ฟู๊ด ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกโกโก้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
 

"ข้อมูลปี 2565 ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้ไปตลาดโลกมูลค่ากว่า 69.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 64.32% จากปี 2564 โดยมี ญี่ปุ่น อาเซียน และเกาหลีใต้เป็นตลาดหลักส่งออกสำคัญ"

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า การทำแผนฯ มีความจำเป็น ไม่เพียงรองรับเทรนด์การบริโภคที่เติบโตจนทำให้ไทยต้องนำเข้าโกโก้ ยังแก้ปัญหาผลผลิตของประเทศล้นตลาด ปลูกมากแต่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน เกิดภาวะล้นตลาด โรงงานผลิตโกโก้กว่า 20 แห่งทั่วประเทศเลือกนำเข้าแทน ทำให้ราคาผลโกโก้ตกต่ำ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะแก้ปัญหานี้ทั้งระบบ จะพัฒนาตั้งแต่สายพันธุ์ กำหนดพื้นที่ จำนวนเกษตรกร จำนวนโรงงานผลิต ตลอดจนแผนการนำเข้าและส่งออก เป็นการพัฒนาตลอดซัพพลายเชน