โกโก้แพงทุบสถิติ ผลผลิตสวนทางดีมานด์ ชะตากรรม"ผู้บริโภค"

28 มี.ค. 2567 | 22:00 น.

ราคาโกโก้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทะลุ 10,000 ดอลลาร์ โลกร้อน-ไวรัส ฉุดผลผลิตร่วงสวนทางดีมานด์ ผู้บริโภคอาจเผชิญกับราคาที่สูงขึ้น บริษัทต่างๆ อาจปรับเปลี่ยนส่วนผสมเพื่อใช้โกโก้น้อยลงในผลิตภัณฑ์บางชนิด

ผู้บริโภคอาจเริ่มเห็นผลกระทบของ "ราคาโกโก้" ที่พุ่งสูงขึ้น ในขณะที่โลกเผชิญกับการขาดดุลอุปทานที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยเกษตรกรในแอฟริกาตะวันตกต้องดิ้นรนต่อสู้กับสภาพอากาศเลวร้าย โรคภัยไข้เจ็บ และต้นไม้ที่ล้มเหลว

ราคาโกโก้ล่วงหน้าสำหรับการส่งมอบในเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 10,080 ดอลลาร์ต่อเมตริกตันในวันอังคารที่ผ่านมา ก่อนที่จะสิ้นสุด และลดลง 0.3% มาอยู่ที่ 9,622 ดอลลาร์

โกโก้มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 129% ในปี 2567 National Confectioners Association สมาคมผู้ผลิตขนมหวานสหรัฐฯ ระบุว่า อุตสาหกรรมกำลังทำงานร่วมกับผู้ค้าปลีกเพื่อ "จัดการต้นทุน" และรักษาช็อกโกแลตให้ราคาไม่แพงสำหรับผู้บริโภค

นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์จาก Rabobank ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับการขาดดุลอุปทานโกโก้ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 60 ปี และผู้บริโภคอาจเริ่มเห็นผลกระทบในปลายปีนี้หรือต้นปี 2568 ขณะที่ องค์การโกโก้ระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าอุปทานขาดดุล 374,000 ตันในฤดูกาลปี 2023-2024 เพิ่มขึ้น 405% จากการขาดดุล 74,000 ตันในฤดูกาลที่แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ราคาโกโก้มีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะไม่มีการแก้ปัญหาเชิงระบบที่ตลาดเผชิญอยู่ ผู้บริโภคอาจเผชิญกับราคาที่สูงขึ้นหรือ "Shrinkflation" ซึ่งหมายถึง การลดขนาดผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ผลิต ท่ามกลางภาวะที่บริษัทต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นและถึงจุดต้องส่งต่อต้นทุนเหล่านี้ไปยังผู้บริโภค

สำหรับโก้โก้อาจเกิดขึ้นในรูปแบบของช็อกโกแลตแท่งขนาดเล็ก บริษัทต่างๆ อาจปรับเปลี่ยนส่วนผสมเพื่อใช้โกโก้น้อยลงในผลิตภัณฑ์บางชนิด

ข้อมูลจาก Wells Fargo’s Agri-Food Institute ระบุว่า ผู้บริโภคอาจเห็นราคาที่สูงขึ้นทันทีในช่วง "เทศกาลอีสเตอร์" (วันสมโภชปัสกา) ซึ่งตรงกับช่วงปลายเดือนมีนาคม - เมษายน ชาวคริสต์ทั่วโลกจะร่วมเฉลิมฉลองไปร่วมพิธีกรรมในโบสถ์ ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า รับประทานอาหารร่วมกันกับครอบครัว

อุปทานตกอยู่ภายใต้การคุกคาม

การหยุดชะงักของอุปทานในประเทศผู้ผลิตหลักอย่าง "ไอวอรี่โคสต์" และ "กานา" สองประเทศคิดเป็นประมาณ 60% ของการผลิตโกโก้ทั่วโลก

พืชได้รับผลกระทบจากโรคฝักดำและไวรัสทำให้ต้นโกโก้บวม และต้นไม้หลายต้นเกินศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด 

ฝนตกหนักทำให้ปัญหาโรครุนแรงขึ้นและปรากฏการณ์เอลนีโญยังนำไปสู่สภาวะที่แห้งแล้งมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตโกโก้ลดลงในปีก่อนหน้า ลม "ฮามัททาน” (Harmattan) ปรากฏการณ์ธรรมชาติของทวีปแอฟริกามีความรุนแรงมากขึ้นในปีนี้และยังส่งผลกระทบต่อผลผลิตพืชผล

เกษตรกรในไอวอรีโคสต์กำลังเลิกผลิตโกโก้มากขึ้นเพื่อปลูกพืชที่ให้ผลกำไรมากขึ้น เช่น ยางพารา  ขณะที่รัฐบาลกานาและไอวอรีโคสต์กำหนดราคาคงที่สำหรับเกษตรกรเมื่อเริ่มต้นฤดูกาล 

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาโกโก้ที่วิ่งขึ้นล่าสุดน่าจะเกิดจากการตื่นตระหนกของผู้ซื้อเชิงพาณิชย์บางรายมากกว่าการเก็งกำไรในตลาด โดยผู้ซื้อมองเห็นขนาดของการขาดดุลอุปทานและพยายามรักษาโกโก้ที่มีอยู่

ราคาที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อบริษัทช็อกโกแลตยักษ์ใหญ่อย่าง Hershey ซึ่งเห็นว่าผลประกอบการในปีนี้ทรงตัว หุ้นของ Hershey ลดลงประมาณ 22% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่หุ้นที่จดทะเบียนในสวิตเซอร์แลนด์ของ Nestle ได้ลดลงประมาณ 13% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ดัน "ไทย" ขึ้นแท่นโกโก้ฮับอาเซียน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคาโกโก้ในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และข้อจำกัดเรื่องซัพพลายการปลูก ประกอบกับความต้องการโกโก้มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

สะท้อนจากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมี่ยม รวมถึงเทรนด์การรักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ประเทศไทย กำลังเดินหน้าพัฒนาการปลูกโกโก้ในพื้นที่ภาคตะวันออก เนื่องจากโกโก้เป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดโลกสูง มีการจําหน่ายและส่งออกไปยังหลายประเทศในทวีปยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ รวมถึงแนวโน้มความต้องการและราคาในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นกว่า 5,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 210,000 บาท ต่อตัน