ศึกชิงประธานส.อ.ท.ระอุ "เกรียงไกร"ชู 3 Go หนุน SME “สมโภชน์”เชื่อมรัฐเชิงรุก

29 มี.ค. 2567 | 02:37 น.

ส่องนโยบายเด่น โค้งสุดท้าย ใครเข้าตา ชิงดำประธานสภาอุตฯคนที่ 17 “เกรียงไกร” งัด 3 Go เพิ่มขีดแข่งขัน ดันสมาร์ทเอสเอ็มอีพรึ่บทั่วประเทศ “สมโภชน์” ลุยเชื่อมรัฐ-เอกชนดันยุทธศาสตร์ชาติเชิงรุกรับมือโลกเปลี่ยนเร็ว วงในชี้ประธานคนปัจจุบันคะแนนยังเป็นต่อ

ศึกเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.คนที่ 17 วาระปี 2567-2569 งวดเข้ามาทุกขณะแคนดิเดตคู่ชิงตำแหน่งระหว่างนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. คนปัจจุบัน ที่ได้เสนอตัวรับเลือกตั้งเพื่อลุยงานต่ออีกหนึ่งสมัย กับนายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท.และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่เสนอตัวชิงตำแหน่งเป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน ท่ามกลางผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่ายที่ส่งเสียงเชียร์

ล่าสุดวันที่ 25 มีนาคม 2567 ได้มีการเลือกตั้งกรรมการ ส.อ.ท.จากสมาชิกประเภทสามัญ (ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นนิติบุคคล และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน รวมถึงสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม) ซึ่งได้กรรมการในส่วนนี้ครบ 244 คนแล้ว และจะนำไปรวมกับกรรมการประเภทแต่งตั้งอีก 122 คน (ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด) รวมเป็น 366 คน ซึ่งจะลงมติเลือกประธาน ส.อ.ท.ภายใน 30 วัน

อย่างไรก็ดีเส้นทางสู่ตำแหน่งประธานฯครั้งนี้มีดราม่าเกิดขึ้นระหว่างทางมากมาย หลายเรื่องหลายราวถูกมองว่าเป็นการนำมาดิสเครดิตกัน แต่ในหลายเรื่องก็เป็นเรื่องจริงที่ต้องพิสูจน์เพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับสมาชิก แต่เหนือสิ่งอื่นใด วิสัยทัศน์ นโยบายของแคนดิเดตประธาน ส.อ.ท.ที่จะนำพาสมาชิก ส.อ.ท.ที่มีมากกว่า 1.6 หมื่นบริษัททั่วประเทศ และเป็นภาคการผลิตหลักของประเทศ เพื่อฝ่าฟันความท้าทายในอีก 2 ปีข้างหน้าถือเป็นเรื่องสำคัญที่กรรมการทั้ง 366 คนจะใช้ในการตัดสินใจเลือกใครเป็นประธาน ส.อ.ท.คนใหม่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่จะลงชิงตำแหน่งในวาระที่ 2 เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนงาน/นโยบายที่ตนจะนำพา ส.อ.ท.ในอีก 2 ปีนับจากนี้หากยังได้รับความไว้วางใจจากมวลสมาชิก โดย 80 % ของแผนงานจะเป็นการสานต่อนโยบายที่เคยประกาศและดำเนินการไปในช่วงวาระแรกให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น คือ ONE FTI (One Vision, One Team, One Goal) โดยมุ่งขับเคลื่อน First Industries หรืออุตสาหกรรมเดิมของ ส.อ.ท. และขยายผลสู่ Next-GEN Industries ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curves) ที่ขับเคลื่อนด้วย BCG Model ที่เป็นทิศทางใหม่ของโลก

ส่วนอีก 20% จะเป็นนโยบายใหม่ที่จะเร่งขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของ ส.อ.ท.เพื่อทรานส์ฟอร์มสู่ “SMART SMEs” เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากล มุ่งแผนปฏิบัติการ 3 เรื่องสำคัญคือ

1.Go Digital โดยเตรียมแพ็กเกจโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลของ ส.อ.ท.อาทิ โปรแกรมด้านการผลิต ด้านการบัญชี ด้านระบบการควบคุมต้นทุนต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิการผลิต และช่วยลดต้นทุน โดยจากหลายโปรแกรมรวมกันราคาหลักแสนบาท แต่จะลดเหลือเพียง 1,110 บาท เพื่อให้สมาชิกจับต้องได้ และนำไปใช้ได้ผลจริง

2.Go Innovation โดย ส.อ.ทได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งกองทุนนวัตกรรม โดยเบื้องต้นมีเงินกองทุนแล้ว 2,000 ล้านบาท (ลงขันคนละ 1,000 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอียกระดับผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จะดำเนินการในกรอบ 3 ปีนับจากนี้

3.Go Global ผลักดันการผลิตและการขายสินค้าในมาตรฐานของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเป็นซัพพลายเชนที่มีมาตรฐานสากล ในการผลิตชิ้นส่วนหรือสินค้าป้อนให้กับผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย

“นโยบายใน 2 ปีถัดจากนี้จะเดินอย่างเร็ว และอย่างเข้มข้นในเชิงรุกทั้งนโยบายเดิม และนโยบายใหม่ โดยเฉพาะใน 3 เรื่องใหม่หากสมาชิกเข้าร่วมเชื่อว่าจะช่วยยกระดับ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้เขาได้อย่างผิดหูผิดตา นอกจากนี้จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ที่เวลานี้มีค่าใช้จ่ายที่สูง สำหรับการหาเสียงของผมที่ผ่านมา ได้เปิดเวทีพูดถึงนโยบายในการขับเคลื่อน ส.อ.ท.ในอีก 2 ปีข้างหน้าผ่านออฟไลน์ และออนไลน์มา 2-3 รอบแล้ว มีสมาชิกให้ความสนใจจำนวนมาก เท่าที่หยั่งเสียงก็ยังมั่นใจว่าจะได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งอีกสมัย”

ขณะที่ นายสมโภชน์ อาหุนัย เปิดเผยว่า หากได้เป็นประธาน ส.อ.ท.จะดำเนินการเชิงรุกในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศให้สอดประสานกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่ง ส.อ.ท.มีสมาชิกที่เป็นผู้มีประสบการณ์ และมีความสามารถมากมาย ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการหายุทธศาสตร์ที่จะช่วยกันในการผลักดันให้เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างแข็งแรง จากที่กินบุญเก่ามากว่า 30 ปี ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

ทั้งนี้ใน 8 ปีที่ผ่านมาทุนต่างชาติไหลเข้าไทยน้อยมาก โดยอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เทรนด์ใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นในไทย แต่ไปเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน หากไทยไม่สามารถที่จะออกยุทธศาสตร์เชิงรุกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ใน 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ถึงจุดหนึ่งจะเดือดร้อนและเหนื่อยมาก ดังนั้นต้องพยายามเชิญชวนให้ทุกอุตสาหกรรมมาร่วมมือกันในการทำให้เกิด New S-Curve

“การตัดสินใจที่มาลงตรงนี้ ผมต้องการที่จะเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ในการบริหาร เพื่อให้สภาอุตสาหกรรมฯได้ใช้ศักยภาพของตัวเองให้เต็มที่ และสามารถที่จะช่วยเหลือสมาชิกทั้งที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก กลางและใหญ่ มีความแข็งแรงมากขึ้น ถ้าไม่สมัครรับเลือกตั้งก็จะไม่มีโอกาสขายไอเดียหรือแนวคิดให้กับสมาชิก ส่วนเรื่องที่ใครจะมาเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมก็ต้องน้อมรับผลการเลือกตั้ง”

แหล่งข่าวจากหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท.เผยว่า จากการหยั่งเสียงล่าสุด คะแนนนิยมของนายเกรียงไกรยังเป็นต่อ โดยในจำนวน 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ในจำนวนนี้มีมากกว่า 40 กลุ่ม ที่ได้มีมติของกลุ่มในการให้การสนับสนุนนายเกรียงไกร อย่างไรก็ดียังต้องลุ้นคะแนนเสียงกรรมการจากสภาอุตสาหกรรม 76 จังหวัด และกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งอีก 244 คนว่าจะตัดสินใจและลงมติเลือกใคร

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3979 วันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน พ.ศ. 2567