เอกชนกระบี่ จี้รัฐแก้ภัยแล้ง หวั่นกระทบท่องเที่ยว

04 พ.ค. 2567 | 07:51 น.

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวกระบี่ เร่งรัฐออกมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว หวั่นไม่มีน้ำประปาใช้ เดือดร้อนหนัก กระทบทั้งประชาชนและการท่องเที่ยว

นางสาวศศิธร  กิตติธรกุล  ประธานเขตพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กระบี่เป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงระยะยาวทำให้ประชาชน ในพื้นที่ชนบทที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่  เกาะ ชายทะเล ขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค หากพื้นที่และชาวบ้านขาดแลนน้ำ ธุรกิจการท่องเที่ยวก็ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ด้วยดี
 
การขับเคลื่อนธุรกิจการท่องเที่ยวของกระบี่ สู่ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ  การรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ที่สมาคมฯ ต้องทำงานร่วมกับประชาชนและทุกหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน   ความมั่นคงทางด้านน้ำจืดสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนกระบี่  ภาครัฐจะทำอย่างไร เพราะกระบี่เป็นจังหวัดหนึ่งที่ฝนทิ้งช่วง ทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนน้ำจืดในการอุปโภคบริโภค ทั้งในชุมชนตัวเมืองกระบี่   ชนบทซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยว   

นางสาวศศิธร  กล่าวว่า ตนเองเคยศึกษาเรื่องประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเกาะขาดแคลนน้ำจืดไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในประเทศ แต่สิงคโปร์สามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำจนประสบความสำเร็จ ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน สิงคโปร์มีระเบียบวินัยในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่เห็นชัดในเรื่องนี้คือ การประหยัด ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า การจัดหาแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา ส่วนหนึ่งเอาน้ำทะเลผลิตน้ำจืด การบำบัดน้ำที่ถูกวิธีนำมาใช้ใหม่ได้

นางสาวศศิธร  กิตติธรกุล  ประธานเขตพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย น้ำฝนปริมาณมากในแต่ละปีแต่เรายังกักเก็บน้ำกันน้อย  แหล่งน้ำตามธรรมชาติ แม่น้ำ คลอง ห้วย หากเรามีการจัดการบริหารน้ำอย่างดี เป็นระบบ ประชาชนจะไม่ขาดแคลน้ำเพราะฝนทิ้งช่วงเช่นนี้  กรณีของจังหวัดกระบี่ แหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอ ทำให้ขาดแคลนน้ำประปาในชุมชนที่ใช้น้ำประปา ชุมชนเมืองกระบี่ที่ต้องใช้น้ำประปามากถึง 30,000กว่าครัวเรือน   ปัญหาเหล่านี้หน่วยงานภาครัฐต้องจัดงบประมาณมาเพื่อบริหารจัดการเรื่องน้ำในเมืองท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค

ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต นั้นส่วนมากจะใช้น้ำบาดาล น้ำยังเพียงพอต่อความต้องการใช้ของลูกค้าในโรงแรม รีสอร์ต แต่ในอนาคตไม่แน่นอนเพราะน้ำบาดาลเป็นน้ำชั้นใต้ดินอาจจะแห้งได้  ดังนั้นหากเราสามารถกักเก็บน้ำฝนในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และน้ำผิวดินที่อยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ คลอง และห้วย เราก็ไม่ขาดแคลนน้ำ  กระบี่มีอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง ก้ใช้น้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาให้กับประชาชนในพื้นที่ กระบี่น้อย   แต่ชุมชนตัวเมืองกระบี่น้ำยังขาดแคลน สิ่งเหล่านี้อยากเรียกร้องให้ รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดุแลในเรื่องนี้
 

นายชัยภัทร   วสุนธรา นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ตนเองเข้ามารับตำแหน่งคนใหม่เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งตนและคณะกรรมการชุดใหม่จะสานงานต่อจากนายกคนเก่า (นางสาวศศิธร  กิตติธรกุล) เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายของสมาคมในการสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจรวมถึงการรักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกกลุ่มอาชีพมีความมั่นคงในอาชีพของตนเอง    

นายชัยภัทร วสุนธรา นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่

สิ่งที่สมาคมคาดหวังคืออยากดูแลเรื่องของน้ำจืดสำหรับการอุปโภคบริโภคให้กับคนกระบี่อย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงอยากจะให้หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการน้ำให้กับประชาชนได้มีน้ำใช้น้ำดื่มอย่างเพียงพอ  เพราะหากเราเป็นเมืองท่องเที่ยวขาดแลนน้ำจืดสำหรับการอุปโภคบริโภคก็จะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

สมาคมฯจะนำเรื่องนี้ไปพูดคุยหารือใน กรอ.จังหวัดอีกครั้ง เพื่อให้ดำเนินการแก้ปัญหา การวางแผนระยะยาว การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะทำโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ในการผลิตน้ำประปาเพื่อจ่ายให้ประชาชนอย่างทั่วถึง   ปัญหาขาดแคลนน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคเกิดขึ้นมานานแล้ว รัฐบาลและภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วนแล้ว