ระบบจัดสรรปันส่วนผสม กติกาเลือกตั้งใหม่เป็นธรรมทุกพรรค

03 พ.ค. 2560 | 01:00 น.
รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่มีผลบังคับใช้ได้กำหนดเส้นทางการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ทั้งแบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วอย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งระบบใหม่ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม”ตามแบบเยอรมนีนั้นยังสร้างความสับสนให้กับสังคมและประชาชนโดยทั่วไป

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวการเมือง ฐานเศรษฐกิจ” บอกเล่าถึงพัฒนาการระบบการเลือกตั้งของไทย พร้อมไขข้อข้องใจหลักการของการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสมและสูตรคำนวณส.ส.ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หลักคิดของกรธ.ในการวางระบบเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้เริ่มต้นโดยมองจากวิกฤตการณ์ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองที่ต้องการเอาชนะคะคานกันจนเกิดปัญหาบานปลาย เกิดความวุ่นวายตามมา ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะลดความรุนแรงในการแข่งขันการเข้าสู่อำนาจเหล่านี้ได้ ควบคู่ไปสภาพสังคมไทยที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของอายุ การศึกษา ความรู้ความสามารถ ความคิดความอ่าน อาชีพ ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มากให้ได้

“กรธ.มองว่า ระบบเลือกตั้งที่ดีควรทำให้มีการกระจาย มีตัวแทนความหลากหลายในผลประโยชน์ ในความคิดความอ่าน รสนิยม เข้ามาอยู่ในสภา จึงนำโจทย์ทั้ง 2 ประการข้างต้นมาเป็นกรอบคิด แล้วเมื่อหันมามองระบบการเลือกตั้งของเราที่ผ่านมาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี2540นั้นเป็นระบบ “วันแมนวันโหวต”คนชนะในเขตเลือกตั้งหนึ่งอาจชนะกันเพียงแค่คะแนนเดียว ซึ่งคือจุดอ่อนของระบบเพราะนำคะแนนมาดูเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่หรือเสียงข้างมาก”

ยกตัวอย่างเช่น แข่งกัน4 คน ผู้ที่ชนะได้ 40%ของคะแนน ขณะที่อีก 3 คนรวมกันได้ 60% ลักษณะเช่นนี้จะพูดได้อย่างไรว่า คนชนะมาจากเสียงส่วนใหญ่ ที่สำคัญ คือ คะแนน 60%นั้นถูกทิ้งลงน้ำไปเลยไม่ได้นำมานับแต่อย่างใดเท่ากับคะแนนเสียงของคนกลุ่มนี้ไม่มีความหมายใดๆยิ่งไปกว่านั้นที่ผ่านมาการเมืองบ้านเรา คะแนนนิยมของผู้สมัครบางคนบางพรรคมีลักษณะของการผูกขาด ตรึงฐานเสียงด้วยวิธีการต่างๆ ประชาชนที่คิดต่างจากส.ส.ในเขตนั้นแทบจะไม่มีโอกาสมีผู้แทนของตนเองได้เลย เพราะระบบชนะกันเพียงแค่คะแนนเดียว

“เราพบว่า ในหลายประเทศก็ใช้ระบบเลือกตั้งแบบบ้านเรา ซึ่งเป็นระบบการเลือกตั้งก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นก็คือ การกำหนดให้มี ส.ส. 2 ประเภท คือ ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อเพราะเชื่อว่า ส.ส.ทั้ง 2 ประเภทนี้จะมาเกื้อหนุนกันและกัน โดยมองว่า ส.ส.เขต คือคนดีในเขตนั้น ชาวบ้านนิยมจึงเลือกขึ้นมา แต่อาจจะไม่รอบรู้ในทุกๆด้าน ในเยอรมนีจึงได้คิดวิธีหา ส.ส.บัญชีรายชื่อขึ้นมาปิดจุดอ่อนดังกล่าวเปิดโอกาสให้พรรคได้นำผู้ที่รอบรู้ มีความสามารถมาช่วยกันคิดนโยบายและบริหารงานที่ดีๆถือเป็นพัฒนาการประการหนึ่งที่เชื่อว่าจะทำให้การเลือกตั้ง หรือการมีตัวแทนส.ส.ไม่ได้จำกัดแค่การเป็นคนดีในเขตใครเขตมันเท่านั้น

ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญปี 2540จึงได้นำหลักคิด แนวทางดังกล่าวมาใช้ เริ่มมีส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่เมื่อออกเป็นกฎหมายเลือกตั้งหลังปี 2540 เรากลับไปเขียนเปิดโอกาส2 เรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยะสำคัญ นั่นก็คือ พรรคการเมืองสามารถส่งส.ส.บัญชีรายชื่อลงแข่งขันได้โดยไม่จำเป็นต้องส่ง ส.ส.เขต ซึ่งผิดหลักการที่ต้องการให้ ส.ส.เขตเป็นตัวยืน ส.ส.จากบัญชีรายชื่อ เป็นเพียงตัวเติมเต็ม

[caption id="attachment_144927" align="aligncenter" width="497"] ระบบจัดสรรปันส่วนผสม กติกาเลือกตั้งใหม่เป็นธรรมทุกพรรค ระบบจัดสรรปันส่วนผสม กติกาเลือกตั้งใหม่เป็นธรรมทุกพรรค[/caption]

ข้อบกพร่องอีกประการที่เกิดขึ้น คือ คะแนนของส.ส.เขตที่ได้รับการนับแล้วของคนชนะในเขตนั้น ยังนำกลับมานับเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อดังนั้น จากพรรคที่ชนะได้เก้าอี้ส.ส.เขตหลายตำแหน่งอยู่แล้ว ยังได้จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อมากตามไปด้วย

“จากเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ต้องการให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นตัวช่วยเกลี่ยจำนวนส.ส.ในแต่ละพรรคไม่เป็นไปตามนั้น เพราะวิธีคิดของเราไปนับคะแนนโหวตนั่นเอง ผลที่ตามมาเกิดความเข้มข้นของการแข่งขันทางการเมือง เกิดการผูกขาดในภาพใหญ่มากขึ้น จนนำไปสู่สิ่งที่เราเห็น นั่นคือเผด็จการรัฐสภาที่เป็นเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาไม่ฟังเสียงข้างน้อยเพราะถือว่ามีเสียงข้างมาก ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จึงได้พัฒนาคิดหาวิธีอุดรูรั่วที่เกิดขึ้น ยังใช้วิธีมีส.ส.ทั้ง 2 ประเภท แต่เรียกเสียใหม่ว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม”

ที่มาของจำนวนส.ส.
หลักการคือ ทำอย่างไรที่จะให้ทุกคะแนนของผู้ที่มาลงคะแนนเลือกตั้งคะแนนทุกบัตรถูกนำไปนับ และทำอย่างไรจะไม่เกิดการนับซ้ำสำหรับผู้ที่ชนะแบบเขตแล้วต้องไม่นับซ้ำในบัญชีรายชื่ออีก เพื่อให้ได้ที่นั่งแบบแบ่งสรรปันส่วนกันเปลี่ยนสภาพการเมืองจากการแข่งดีแข่งเด่นให้หันมาปรึกษาหารือ มาร่วมพูดคุยกันเพื่อชาติบ้านเมือง

หลักการใหม่ของ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” จะมองภาพรวมทั้งประเทศ เอาคะแนนนิยมของพรรคการเมืองต่างๆที่ลงแข่งขันมากำหนดให้รอบแรกก่อน กล่าวคือ มีกี่พรรคก็ลงสมัครแข่งขันกัน เมื่อนับคะแนนเสร็จ มาดูว่าทั้งประเทศ พรรค ก. พรรค ข. พรรค ค. พรรค ง. ได้คะแนนรวมทั้งประเทศเท่าใด เอาคะแนนของพรรคมาหาสัดส่วน พรรคหนึ่งได้ร้อยละเท่าใดของผู้มาออกเสียงทั้งหมด เช่น มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 30 ล้านใบ พรรค ก. ได้รับความนิยม 15 ล้านใบ หมายความว่า พรรค ก. ต้องได้ จำนวนส.ส.ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสภา นั่นก็คือ 250 ที่นั่ง ขณะที่พรรค ง. ได้รับความนิยมน้อยที่สุด คือ 5%ก็ควรจะได้ ส.ส. 5% จาก 500 ที่นั่งในสภา ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทุกคะแนนไม่ถูกทิ้งแน่นอน นี่คือ ความเป็นธรรมในแง่ของความนิยมจากทั่วประเทศ และเป็นธรรมกับทุกพรรค

ขั้นที่ 2 จึงไปดูว่า ในจำนวน 15 ล้านบัตรเลือกตั้งนั้น พรรค ก.ชนะเขตเลือกตั้งกี่เขตเช่น ชนะ 200 เขต ขณะที่คะแนนความนิยมทั่วประเทศต้องได้250ที่นั่งในสภา ก็จะเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเข้าไปให้ ตามสิทธิที่พรรคนั้นควรได้ แต่ส่วนเกินนั้นจะไปเบียดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ควรแบ่งให้กับคนอื่น ทำแบบนี้กับทุกพรรค

โอกาสเกิดของพรรคเล็ก
นายชาติชาย อธิบายต่อว่า พรรคเล็กก็มีโอกาสเกิดได้ซึ่งที่ผ่านมาไม่มี เพราะเลือกตั้งครั้งใดก็แพ้ทุกเขตเลือกตั้งก็จะไม่ได้เก้าอี้ในสภาเลย แต่หากใช้วิธีนี้ก็จะมีโอกาสได้ เอาเสียงความนิยมเป็นตัวตัดสิน ซึ่งต่างจากอดีต การเลือกตั้งของเราจะเอาผู้สมัครเป็นตัวตั้ง แข่งขันกันมองหน้าผู้สมัคร แล้วนำเขตเลือกตั้งเป็นหลักคิด คือ 350 เขต ต้องชนะกี่เขตถึงจะเอาชนะได้ ซึ่งทราบกันดีว่า ไม่สามารถไปคุมผู้ที่จะมาเลือกตั้งของแต่ละเขตได้ แม้ว่าการแบ่งจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจจะใกล้เคียงกัน แต่คนที่ออกจากบ้านมาเลือกตั้งไม่เท่ากันในแต่ละเขต จำนวนเขตเยอะแต่คะแนนเสียงรวมอาจจะน้อย เพราะผู้ออกมาใช้สิทธิในเขตนั้นน้อย เช่น เขตพระโขนง ในอดีตจะชนะเขตพระโขนงต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 1.5 แสน ขณะที่อำเภอหนึ่งในจังหวัดระนอง ได้แค่ 2.5 หมื่นก็ชนะในเขตนี้

“ระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมนี้ จะจูงใจให้ประชาชนมาเลือกตั้งคนมาสังกัดพรรคทำงานหนักมากขึ้น พรรคกับผู้สมัครทำงานใกล้ชิดกัน ระบบนี้พรรคใหญ่ไม่เสียเปรียบ เพราะคะแนนนิยมมาก่อน พรรคที่ได้รับความนิยมเยอะก็ได้คะแนนมาก ความนิยมที่มีต่อพรรคเป็นตัวตั้ง ที่คือ ระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง หากอยากได้ ส.ส.ในสภาก็ต้องไปช่วยกันหาเสียง ต้องทำงานหนักด้วยการทำดีเพื่อให้คนนิยม”

 ที่มาของบัตรใบเดียว
ส่วนกรณีใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้นับคะแนนได้ง่าย ในบัตรเลือกตั้งจะมีเพียงชื่อพรรค และตัวผู้สมัครในเขตนั้น กฎหมายเดิมกำหนดให้ต้องมี 2 ใบ เพราะที่ผ่านมากฎหมายเลือกตั้งส.ส.เขียนให้พรรคบางพรรคสามารถส่งส.ส.บัญชีรายชื่อได้ โดยไม่ต้องส่งส.ส.เขตทำให้ต้องมี 2 ใบ แต่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้จะส่งส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต จึงใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเพราะส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ต้องเลือกมีลิสต์อยู่ในกระดานแล้ว มาโดยอัตโนมัติว่าจะได้กี่คนก็เรียงไปตามโควตานั้น

บทสรุปของระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ กรธ. เชื่อมั่นว่า จะสะท้อนความนิยม บ่งบอกความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้ ทุกคะแนนของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สูญเปล่าอย่างที่ผ่านมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560