ต้าน‘ไพรมารีโหวต’ กรธ.นัดถก19มิถุนาฯ ชงความเห็นแย้งสนช.

20 มิ.ย. 2560 | 03:40 น.
“มีชัย” หวั่น “ไพรมารีโหวต” ตามมติ สนช. ส่งผลกระทบเลือกตั้ง พรรคการเมืองเตรียมตัวไม่ทัน-ปฏิบัติยาก เล็งถก กกต.หาทางออก 19 มิ.ย.นี้

ในที่สุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเอกฉันท์ 180 เสียง เห็นชอบในวาระ 3 ให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยประเด็นหลักที่สมาชิกอภิปรายอย่างดุเดือดคือประเด็นทุนประเดิมพรรค และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ขณะที่การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครเลือกตั้งจากตัวแทนที่ได้รับการโหวตเลือกจากสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด(ไพรมารีโหวต) ส่วนผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กำหนดให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร เพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดพิจารณาจัดลำดับบัญชีรายชื่อผู้สมัคร โดยหัวหน้าพรรคอยู่ในบัญชีลำดับที่ 1 นอกจากนี้ยังห้ามกรรมการบริหารพรรคยินยอมให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เข้าควบคุม ครอบงำ ชี้นำการดำเนินกิจการของพรรค หากฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และมีความผิดต้องรับโทษทั้งปรับและจำคุก

ภายหลัง ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองผ่านความเห็น สนช.ปรากฎมีท่าทีจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาท้วงติงประเด็นที่สนช.ปรับแก้ให้พรรคการเมืองใช้ระบบไพรมารีโหวต ก่อนส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีการแก้ไขจากร่างฯเดิมของ กรธ.

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กรธ.กำลังดูเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองที่สนช.ได้ปรับแก้ไขว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร เห็นว่าเรื่องไพรมารีโหวตที่ สนช.ได้กำหนดว่าให้เลือกผู้สมัคร ส.ส.จากการเลือกของสมาชิกพรรคการเมืองในระดับเขตนั้น เรื่องนี้ถือว่าเข้มกว่าสิ่งที่กรธ.ได้กำหนดไว้ และเป็นสิ่งที่เร็วเกินไปสำหรับพรรคการเมืองด้วย ถ้าพรรคการเมืองทำไม่ได้จะทำอย่างไร

“มีข้อกังวลว่าสมมติว่าถ้าพรรคการเมืองส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.มาแล้ว ถ้ามีคนโต้แย้งบอกว่ารายชื่อที่ส่งมานั้นยังใช้กระบวนการไม่ครบถ้วน ตรงนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะทำอย่างไร จะไม่รับสมัครเขาหรือไม่ หรือถ้าหากมีการเลือกตั้งแล้วและมีคนมาแย้ง ผลจะเป็นอย่างไร ข้อบังคับเหล่านี้ถือว่ามีผลกระทบต่อพรรคการเมืองมากในทางปฏิบัติ และที่สำคัญจะต้องดูด้วยว่าพรรคการเมืองจะใช้เวลากี่วันเพื่อทำให้ได้ตามข้อบังคับนี้ สมมติว่าเวลาจะเลือกตั้ง ถ้าหากเป็นกรณียุบสภาแล้วบอกให้เลือกตั้งภายใน 45 วัน แล้วจะทำอย่างไร จะใช้เวลาเท่าไรถึงจะทำได้ตามกำหนดเวลาการใช้ข้อบังคับนี้”

tp16-3271-aaa อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่ แต่หากตั้งก็คงจะแย้งในประเด็นขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ระบบไพรมารีโหวตจะส่งปัญหากระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ราบรื่น เนื่องจากพรรคการเมืองอาจมีเวลาเตรียมตัวไม่ทัน โดยจะต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กกต.อีกครั้งในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้

ประธาน กรธ.ชี้ว่า ถ้าหากมองแค่หลักการว่าต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้นก็เป็นเรื่องดี เพราะหากจะลงสมัครในเขตไหนก็ต้องยอมพรรคการเมืองในเขตนั้น แต่ในทางปฏิบัติเรื่องนี้คงไม่ใช่ง่าย พรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางก็คงจะได้รับผลกระทบจากข้อบังคับนี้ แต่ถ้าหากกำหนดว่าต้องมีสาขาพรรคในทุกจังหวัดแล้วสามารถลงเลือกตั้งได้ทุกเขต ตรงนี้ก็จะมีความเหมาะสมมากกว่า

ด้านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. ระบุว่า ร่างกฎหมายพรรคการเมือง ที่ กรธ.เสนอคือ ให้สาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด มีส่วนร่วมในการกำหนดผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับจังหวัด ส่วนทาง สนช.มีการปรับแก้ให้เข้มข้นขึ้น โดยให้สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด มีส่วนร่วมในการกำหนดผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับเขต ซึ่งประเด็นนี้ กรธ.เคยหารือกันแล้วว่า จะเป็นภาระแก่พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่และพรรคการเมืองขนาดเล็กมากเกินไป

นายทวี สุรฤทธิกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) และกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เนื่องจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า ให้ส่งเสริมพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน และให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม การที่พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครโดยผ่านไพรมารีโหวตก่อน เป็นการทำตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ชัดเจนคือ รัฐธรรมนูญต้องการให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันและให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม ต้องบังคับให้พรรคการเมืองต้องเดินตาม เรื่องนี้มีการประชุมถึง 3-4 ครั้ง ต้องให้เจ้าหน้าที่มาทำรายละเอียดชี้แจงให้เห็นชัดเจน และทาง กกต.ยืนยันว่าพรรคการเมืองทำได้ เพราะกกต.มีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้ง และดูแลพรรคการเมือง กมธ.จึงกำหนดให้มีกรรมการในระดับจังหวัด และระดับภาค

“ที่ผ่านมามันน่าอนาถใจมากในการสมยอมส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง พรรคการเมืองสักแต่ส่งผู้สมัคร โดยที่สมาชิกพรรค ไม่มีส่วนรับรู้ แต่คนที่มีอิทธิพลในพรรคเป็นคนส่งชื่อผู้สมัคร ซึ่งไม่เป็นพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า พรรคการเมือง ต้องไม่เป็นพรรคการเมืองของบุคคล ห้ามบุคคลที่มีเป็นสมาชิกพรรคเข้ามามายุ่งเกี่ยว สนับสนุน ซึ่งมีโทษแรงมาก เจ้าคือสมาชิกพรรค เราจึงให้บทบาทกับสมาชิกพรรค”

ส่วนที่พรรคการเมืองเกรงว่าอาจจะมีการเสนอคนโนเนม ทำให้อาจไม่ได้รับ คิดว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะระบบการเลือกตั้งใหม่ ยิ่งคนที่มีชื่อเสียง มีฐานประชาชนยิ่งมาก ยิ่งดี เพราะทุกคะแนนจะถูกนำมานับ จะมีผลทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อ เมื่อเขตได้เยอะ บัญชีรายชื่อก็จะได้น้อย

ส่วนพรรคที่ได้แบบเขตน้อยก็จะถูกนำไปเฉลี่ยในระบบบัญชีรายชื่อ เพราะฉะนั้นผู้สมัครที่จะมีค่าตัวมากคือ อดีตส.ส. หรือผู้สมัครที่เคยในเขตนั้นๆเป็นหลัก เพราะคนซื้อส.ส. เขาจะซื้อตามเสียงที่เคยมาเดิม คนที่เคยมีเสียงมากก็จะได้ค่าตัวมาก อันนี้คือระบบที่พรรคต้องแชร์ผู้ที่มีชื่อเสียง หรือมีฐานคะแนนสูง เพราะฉะนั้น ถ้าพรรคจะเลือกใครมาก็ต้องฟังเสียงคนในเขต ถ้าเป็นระบบใหม่ พรรคก็ต้องซาวเสียง อาจต้องมีการทำโพลล์ หริอทำวิจัยในพื้นที่ก่อนส่งลงสมัคร การเลือกตั้งในประเทศที่เจริญแล้ว ผุ้สมัครจะต้องดูว่าใครมีความนิยมสูง จะมาหมุบหมิบส่งคนไม่มีฐานเสียงไม่ได้

[caption id="attachment_164322" align="aligncenter" width="487"] ต้าน‘ไพรมารีโหวต’ กรธ.นัดถก19มิถุนาฯ ชงความเห็นแย้งสนช. ต้าน‘ไพรมารีโหวต’ กรธ.นัดถก19มิถุนาฯ ชงความเห็นแย้งสนช.[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560