‘ยูเอซี’ โหมลงทุนพลังงานทดแทน วางเป้า 4 ปีรายได้แตะ 4 พันล้านบาท

13 ม.ค. 2559 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ปัจจุบันภาครัฐมีการบรรจุแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(เออีดีพี) รวมอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2558-2579 (พีดีพี 2015) นับว่าเป็นการสนับสนุนให้เอกชนหันมาลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น เพราะได้กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 5 พันเมกะวัตต์ เป็นกว่า 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ในอีก 20 ปีข้างหน้า

โดยบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ ยูเอซี ถือเป็นบริษัทคนไทยที่มีการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ ยูเอซี ถึงแนวทางการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในอนาคต ซึ่งได้วางเป้ารายได้ที่เกิดจากการลงทุนในปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ

 ทิศทางการดำเนินงานปีนี้

สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปี 2559 บริษัทยังคงเชื่อว่าจะสามารถทำรายได้เติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากการเก็บเกี่ยวรายได้จากธุรกิจที่บริษัทเข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น โดยหลักๆยังคงมาจาก 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจสาธารณูปโภค ระบบน้ำ

โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% หรืออยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 1.5 พันล้านบาท แม้ในภาพรวมปี 2558 ที่ผ่านมา จะเป็นปีที่การดำเนินธุรกิจค่อนข้างเหนื่อย แต่โดยภาพรวมบริษัทก็ยังเติบโตขึ้น และจะเริ่มทยอยเห็นการรับรู้รายได้จากโครงการที่บริษัทลงทุนไปก่อนหน้านี้เพิ่มขึ้น

 แผนรุกพลังงานทดแทน

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ได้แก่ โครงการโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม(พีพีพี) อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย สาเหตุที่เรียกว่าพลังงานทดแทน เพราะนำก๊าซที่เผาทิ้งมาใช้เป็นวัตถุดิบ นำมาแปรสภาพได้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติอัด (ซีเอ็นจี) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (เอ็นจีแอล) และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม ความยาว 7 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปีนี้ จะทำให้มีปริมาณก๊าซจากแหล่งน้ำมันดิบใกล้เคียงเข้ามาป้อนโรงงานเดินเครื่องได้ 100 %จากปัจจุบันเพียง 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งหากสามารถรับก๊าซได้เต็มที่ 1.8 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.5 แสนลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะทำให้กำลังการผลิตซีเอ็นจีเพิ่มเป็น 30 ตันต่อวัน จากเดิม 7 ตันต่อวัน แอลพีจี เพิ่มเป็น 20 ตันต่อวัน จากเดิม 10 ตันต่อวัน และเอ็นจีแอล เพิ่มเป็น 6 ตันต่อวัน จากเดิม 3 ตันต่อวัน

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ เพื่อทำก๊าซไบโอมีเทนอัด(ซีบีจี) อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิต 3 ตันต่อวัน แต่ได้ออกแบบผลิตได้ถึง6 ตันต่อวัน หากภาครัฐส่งเสริมให้มีการใช้ซีบีจีแทนเอ็นจีวีมากขึ้น จะทำให้มีการขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นได้ สำหรับโครงการโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ ได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว และยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าอีก 2 โรงกำลังการผลิตรวม 3 เมกะวัตต์ โดยก่อสร้างเสร็จไปแล้ง 1 แห่ง ส่วนอีกโรงก่อสร้างเสร็จแล้ว 80% แต่ยังไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เพราะติดปัญหาสายส่งเต็ม จึงต้องรอนโยบายการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก(วีเอสพีพี) จากทางภาครัฐก่อน หากเปิดรับซื้อก็จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันที่เพราะมีสัญญาขายไฟฟ้า(พีพีเอ)แล้ว

สำหรับโครงการลงทุนโรงงานผลิตไบโอดีเซลร่วมกับทางบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่จ.พระนครศรีอยุธยา เฟส 2 กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยบริษัทถือหุ้นอยู่ 30% จะทำให้กำลังการผลิตไบโอดีเซลบี100 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากเดิมอยู่ที่ 3.5 แสนลิตรต่อวัน เป็น 8.1 แสนลิตรต่อวัน เพื่อรองรับนโยบายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้บี 100 ในน้ำมันดีเซลในอนาคต

รวมทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ที่มีการลงทุนไป 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 2 เมกะวัตต์ ที่กรุงเทพมหานคร 3 โครงการ และที่จ.สุราษฎร์ธานี อีก 1 โครงการ ที่จะทยอยรับรู้รายได้เข้ามา และหากภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น บริษัทก็สนใจลงทุนเพิ่มขึ้น

 ปั้นรายได้โต4พันล้าน

สำหรับเม็ดเงินลงทุนในปี 2559 คงอยู่ที่ประมาณ 700-1,000 ล้านบาท หลักๆใช้ในการขยายลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ขณะที่เงินลงทุน 4 ปี ( 2559-2562) คงอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่ใช้สำหรับลงทุนในธุรกิจที่มีอยู่ จากการลงทุนดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มมาประมาณ 4 พันล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า เทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการลงทุนโรงงานผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม หรือโรงแยกก๊าซเพิ่มเติม โดยศึกษาจะนำก๊าซที่เคยเผาทิ้งในแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร เพื่อผลิตซีเอ็นจี แอลพีจี และเอ็นจีแอล คาดว่าจะใช้เงินลงทุนโรงแยกก๊าซประมาณ 500-600 ล้านบาท ท่อส่งก๊าซอีกประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งแผนลงทุนดังกล่าวอยู่ในแผนลงทุน 4 ปี สาเหตุที่ยังไม่ตัดสินใจลงทุนโรงแยกก๊าซแห่งใหม่ภายในปีนี้ เนื่องจากต้องการให้ท่อส่งก๊าซของแหล่งสุโขทัยเรียบร้อยก่อน

ประกอบกับต้องการให้ภาครัฐเข้ามาพิจารณาด้านราคาก๊าซเผาทิ้งจากแหล่งน้ำมันดิบ เพราะหากมีราคาแพงเทียบเท่ากับก๊าซในอ่าวไทย โครงการย่อมเกิดขึ้นยาก เนื่องจากปริมาณก๊าซในแหล่งน้ำมันดิบไม่สม่ำเสมอ ไม่มีการรับประกันปริมาณก๊าซ จึงเป็นความเสี่ยงของผู้ลงทุน นอกจากนี้ทางกระทรวงพลังงานควรเจรจากับผู้รับสัมปทานเพื่อเปิดทางให้นำก๊าซที่ต้องเผาทิ้งมาใช้ในโรงงานดังกล่าวได้

 แผนขยายตลาดต่างประเทศคืบ

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินธุรกิจในตลาดต่างประเทศนั้น ในปีนี้ บริษัทจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดตั้งบริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด หรือยูเอพีซี (บริษัทย่อย) หลังจากบริษัทซื้อกิจการของบริษัท แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคอล จำกัด หรือ เอพีซี ซึ่งประกอบธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ มูลค่า 730 ล้านบาท ในปีนี้จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2 หมื่นตันต่อปี จากปัจจุบันผลิตจริงอยู่ที่ 1 หมื่นตันต่อปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท

โดยบริษัทตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตธุรกิจเคมีภัณฑ์ของยูเอพีซี ไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการขยายตลาด CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าเคมีภัณฑ์เติบโต โดยเฉพาะในส่วนของกาวน้ำ เพื่อรองรับ
อุตสาหกรรมก่อสร้างที่จะขยายตัวในอนาคต อย่างไรก็ตามบริษัทขยายสินค้าเคมีภัณฑ์ไปยังตลาด CLMV เพื่อเป็นการนำร่องก่อน จากนั้นค่อยมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศเหล่านี้ต่อไป

สุดท้ายนายชัชพล กล่าวถึงอุปสรรคที่ภาครัฐจะต้องเร่งแก้ไขว่า ผู้ประกอบการรายเล็กที่ลงทุนโรงไฟฟ้าวีเอสพีพีนั้น กำลังกังวลกับนโยบายการประมูลรับซื้อไฟฟ้า(บิดดิ้ง ฟีดอินทารีฟ) เนื่องจากเห็นว่าผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายเล็ก เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ชีวภาพ ขนาดไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ ไม่สามารถจะแข่งขันด้านการประมูลราคากับผู้ผลิตรายใหญ่ได้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเข้ามาให้การสนับสนุนชุมชนผลิตไฟฟ้าจากวัสดุธรรมชาติที่เหลือใช้ รวมทั้งนำน้ำเสีย มูลสัตว์ มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า สร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก แต่หากมีการบิดดิ้งฯ ผู้ประกอบการรายเล็กจะไม่สามารถแข่งขันได้ และชาวบ้านหรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กจะเสียประโยชน์จากการแก้ปัญหาน้ำเสีย มูลสัตว์ หรือนำวัสดุธรรมชาติเหลือมาผลิตไฟฟ้าได้ ดังนั้นเห็นว่าควรงดเว้นผู้ผลิตไฟฟ้าวีเอสพีพี ไม่ต้องใช้ระบบการบิดดิ้งฯ

นอกจากนี้ ภาครัฐเร่งตรวจสอบและยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีแนวโน้มไม่ผลิตจริง เพื่อให้สายส่งไฟฟ้าว่าง และนำมาจัดสรรให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายอื่นที่มีความพร้อมแล้วตั้งใจผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559