ค่ายรถวัดใจคนซื้อปรับกลยุทธ์อุตลุดรับมือเรตภาษีใหม่

30 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
ค่ายรถปรับกลยุทธ์อุตลุด รับภาษีสรรพสามิตใหม่ "เบนซ์"ได้โอกาสนำรถปลั๊กอินไฮบริดมาประกอบในไทย C 350 e เคาะราคาแค่ 2.99 ล้านบาท ด้านปาเจโร สปอร์ต ยอมแบกรับภาระภาษี ปรับขึ้นจิ๊บๆไม่เกิน 2.9 หมื่น มาสด้าตรึงราคาบีที-50 และซีเอ็กซ์ -5 รับภาระภาษีเอง

หลังโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ฉบับใหม่ ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 โดยพิจารณาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ทำให้รถยนต์ส่วนใหญ่ต้องปรับขึ้นราคาอย่างน้อย 5-10 % แต่บริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่จะปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ พร้อมยอมแบกรับภาษีที่เพิ่มขึ้นแทนลูกค้า 50-100 % เพื่อประคองยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากนัก

นายไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทจะนำเสนอผลิตภัณฑ์และราคาที่เหมาะสมกับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ซึ่งบริษัทแม่ก็มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับกับนโยบายนี้ของรัฐบาลอยู่แล้ว เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดตัวรถยนต์เทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด ครั้งแรกในประเทศไทย ได้แก่ The S 500 e รถยนต์ซีดานระดับพรีเมียมที่ผสมผสานทั้งเทคโนโลยีล่าสุดของเครื่องยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และภาพลักษณ์อันหรูหราของรถยนต์ตระกูลเอสคลาสเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมด้วยอัตราการปล่อย CO2 ที่ลดเหลือเพียง 62 กรัม/กิโลเมตร

โดยนำเสนอราคาเริ่มต้นที่ 6.39 ล้านบาท และ The C 350 e รถยนต์รุ่นที่ 2 ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ใช้เทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด โดยมีให้เลือกทั้งในแบบซีดานและเอสเตท ซึ่งทั้ง 2 ดีไซน์ได้รับการติดตั้งนวัตกรรมปลั๊กอินไฮบริด พร้อมอัตราการปล่อย CO2 เพียง 58 กรัม/กิโลเมตรในรุ่นซีดาน และ 54 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่นเอสเตท ราคาเริ่มต้นที่ 2.99 ล้านบาท ทั้งนี้เทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด นับเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนารถยนต์ ที่ไม่ปล่อยไอเสียเลย (Zero Emission) ในอนาคต"

ขณะที่นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดของปีนี้กับปีที่แล้ว คงไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่ว่าปลายปีที่ผ่านมากำลังซื้อถูกดึงไปเพราะมีเรื่องนโยบายโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ อย่างไรก็ดีทางโตโยต้ามีกลยุทธ์ทางการตลาดที่วางไว้ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ ,ทำกิจกรรมทางการตลาดต่อเนื่อง,กระตุ้นตลาดด้วยกิจกรรมส่งเสริมการขาย-แคมเปญต่างๆ,การจัดกิจกรรมซีเอสอาร์หรือเพื่อสังคม

สอดรับกับนายชาญ เลิศประเสริฐภากร ประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า ที บี เอ็น จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้า เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากสภาพกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง บริษัทแม่ก็ได้มีการมอบนโยบายทางการตลาดมาให้กับดีลเลอร์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการหลังการขาย การปรับราคาและใส่ออพชันเข้าไปเพื่อให้จูงใจลูกค้า ในส่วนของเราเองก็มีการเพิ่มกิจกรรมและเน้นการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลต่างๆทั้งเรื่องตัวรถ การปรับราคา"

ทั้งนี้จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ”พบว่า โตโยต้าได้ทำการปรับขึ้นราคาในรุ่นโตโยต้า คัมรี่ เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ปรับราคาขึ้น 5.5 หมื่นบาท และโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ เครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตรและ 2.8 ลิตร ปรับราคาขึ้น 3 หมื่นบาท และรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ปรับราคาขึ้น 1 แสนบาท ,โตโยต้า อัลพาร์ด ไฮบริดที่นำเข้าทั้งคันจากญี่ปุ่น ปรับขึ้นมาประมาณ 3 แสนบาท

ด้านนายโมะริคาซุ ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทมีการปรับราคารถพร้อมทั้งออพชันต่างๆให้มีความน่าสนใจ โดยในรุ่นปาเจโร่ สปอร์ต หากมีการปรับขึ้นตามจริงจะสูงถึง 7-9 หมื่นบาท แต่บริษัททำการปรับขึ้นเพียง 1.9 -2.9 หมื่นบาท ซึ่งราคาดังกล่าวจะตรึงไว้จนถึงเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนั้นแล้วยังได้ปรับราคาลงมาเพื่อให้ลูกค้าสนใจ อาทิ รถปิกอัพ ไทรทัน เมกะแค็บ พลัส ราคาเริ่มต้น 6.79 แสนบาท ลดลงจากราคาเดิม 6.99 แสนบาท และ ดับเบิลแค็บ พลัส ราคาเริ่มต้น 7.59 แสนบาท ลดลงจากราคาเดิม 7.91 แสนบาท

ขณะเดียวกันนายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทยฯ เปิดเผยว่าบริษัทมีการปรับราคาบางรุ่น และบางรุ่นก็ไม่ได้ปรับ โดยรุ่นที่ปรับลดลงมาคือมาสด้า 2 ที่ได้ประกาศราคาลดลง 2.1 หมื่นบาท ตั้งแต่งานมอเตอร์เอ็กซ์โป ปลายปี 2558 ส่วนมาสด้าบีที-50 โปร แม้ในบางรุ่นจะต้องมีการปรับขึ้น แต่บริษัทยังยืนยันไม่ปรับราคา ส่วนรุ่นอื่นๆ อย่าง มาสด้า ซีเอ็กซ์-5 ยังจำหน่ายราคาเดิม เนื่องจากในอนาคตจะมีโมเดลใหม่ ซึ่งจะมีการปรับราคาตามปกติ เช่นเดียวกับ มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 ที่ยังจำหน่ายในราคาเดิมที่เปิดตัวไปในช่วงปลายเดือน พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา

นายเด่น นิลพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามนิสสัน บางกอก จำกัด เปิดเผยว่า กลยุทธ์ทางการตลาดในตอนนี้ แต่ละบริษัทพยายามกระตุ้นด้วยการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และการจัดแคมเปญลดแลกแจกแถมตามปกติ อย่างไรก็ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคตอนนี้มีการชะลอตัว และแม้ว่าดีลเลอร์บางค่ายจะมีรถในสต๊อกที่ขายรถราคาเดิม แต่ลูกค้าก็ยังไม่ตัดสินใจซื้อ จะมีเพียงบางรุ่นที่ลูกค้ามีกำลังซื้ออยู่แล้ว อาทิ รถปิกอัพเอ็นพี 300 นาวารา ในรุ่นท็อป จะขายดี แต่ในรุ่นอื่นๆยังคงชะลอ ส่วนเอสยูวีอย่างนิสสัน เอ็กซ์-เทรลยังมียอดจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559