อินโดรามาผลักดัน rPET สู่แฟชั่นรักษ์โลก

23 พ.ย. 2561 | 08:21 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ในฐานะผู้นำด้านการส่งเสริมการใช้ PET รีไซเคิล (rPET) และเส้นใยโพลิเอสเทอร์รีไซเคิล ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล จึงได้สนับสนุนโครงการ RECO Young Designer Competition มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อปลูกฝังแนวคิดรักษ์โลกสู่นักออกแบบรุ่นใหม่ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และองค์กรในระยะยาว โดยปีนี้ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ได้จับมืออินโดรามา เวนเจอร์สเป็นครั้งแรก กับการสนับสนุนโครงการดังกล่าว ซึ่งได้ “ชนะจิตร หนูเดช” เป็นผู้ชนะ จากผลงานคอลเลกชัน “Back to the Earth” รับเงินรางวัล และเข้าร่วมโครงการทัศนศึกษา เปิดประสบการณ์ด้านการออกแบบ และโอกาสเข้าร่วมงาน Dutch Design Week ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

ผลงานของน้องๆ

“เคส ราเดอ” เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย บอกว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Industry) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะในเชิงของสถาปัตยกรรม แฟชั่น สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็ต้องอาศัยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์นี้ และเมื่อนำมาผสมผสานกับมิติของความยั่งยืนในการตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน จะได้เห็นการกระตุ้นให้เกิดโมเดลใหม่ๆ ที่ผสมผสานกันระหว่างสังคมที่มีความคิดสร้างสรรค์กับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในเจเนอเรชันต่อๆ ไป

นักออกแบบรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ แต่ละปี จะได้รับความรู้ด้านการดีไซน์ และเทคนิคใหม่ๆ ในการนำวัสดุใช้แล้วมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน ตลอดจนเข้าใจถึงแนวคิดในการรักษ์โลกด้วยการอัพไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าสิ่งของใช้แล้ว โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส ได้คัดเลือกนักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 30 ทีม จาก 200 ผลงาน เพื่อเข้าร่วมการ Workshop ด้านการออกแบบเชิงนิเวศ (eco-design workshop) โดยมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการออกแบบคอยให้คำแนะนำ และผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย จะได้ใช้ความรู้ที่ได้รับจากการเวิร์กช็อป ผลิตผลงานเพื่อจัดแสดงในงานประกาศผลรอบสุดท้าย

“ริชาร์ด โจนส์” รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายการสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล(สำนักงานใหญ่) อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกจากขวดพลาสติกรีไซเคิล มีความ
ทันสมัย และสะอาด ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และระเบียบคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ซึ่งบริษัท เริ่มดำเนินการโรงงานรีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งPET รีไซเคิล
(rPET) และเส้นใยโพลิเอสเทอร์รีไซเคิล สามารถนำผลิตอะไรก็ได้ เยอะแยะมากมาย และสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เรื่อยๆ แบบไม่มีข้อจำกัด

EAK_9311 copy

การนำ PET รีไซเคิล (rPET) และเส้นใยโพลิเอสเทอร์รีไซเคิล มาแต่งเติมไอเดีย เป็นเสื้อผ้า นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง จากอีกหลายๆ อย่างที่พลาสติกเหล่านี้สามารถทำได้ “ริชาร์ด” บอกเพิ่มเติมว่า ในอีกประมาณ 7 ปีข้างหน้า ผู้ผลิตรถยนต์วอลโว่ จะใช้วัสดุจากเส้นใยโพลิเอสเทอร์รีไซเคิล 100% ภายในรถวอลโว่ทุกคัน นั่นแสดงให้เห็นว่า ทั้ง PET รีไซเคิล (rPET) และเส้นใยโพลิเอสเทอร์รีไซเคิล สามารถนำมาผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ได้หลากหลายรูปแบบจริงๆ

และนั่นคือโอกาสในการขจัดขยะอย่างมีมูลค่า แทนที่จะต้องเสียเงินปีละกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการไปเก็บขยะพลาสติกจากทะเล เราควรสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะเหล่านี้ ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ และเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นจริงๆ

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,420 ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2561

595959859