OpenDream สานฝัน นำเทคโนโลยีขับเคลื่อนสังคม

21 มิ.ย. 2562 | 11:00 น.

กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) หรือ SE เป็นรูปแบบองค์กรที่ค่อนข้างท้าทายความสามารถของนักบริหาร ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่เพราะการจะทำงานเพื่อสังคม เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่มันก็คือความท้าทายที่ “คุณหนึ่ง -พัชราภรณ์ ปันสุวรรณ” และ “คุณเก่ง - ปฏิพัทธ์ สุสำเภา” เลือกทำ หลังจากจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

แล้วไปทำงานในองค์กรใหญ่ ตามเส้นทางของเด็กจบปริญญาตรีทั้งหลายทำกัน แต่เมื่อทำได้สักพัก ทั้งคู่ก็เกิดความรู้สึกคล้ายๆ กันว่า อยากไปหาอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายลองทำดู และนั่นคือที่มาที่ทำให้เกิด องค์กรกิจกรรมเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ “OpenDream” เมื่อกว่า 10 ปีก่อน 

“คุณหนึ่ง” เล่าว่า ตอนที่ออกมาทำบริษัทได้สัก3 ปี ก็เริ่มรู้สึกอยากหาอะไรใหม่ๆ ทำดูบ้าง ประจวบเหมาะกับการได้รับคำแนะนำจากเพื่อน คือ สุนิตย์ เชรษฐา จาก Change Fusion องค์กรที่ทำงานคลุกคลีกับผู้ประกอบการเพื่อสังคม ทำให้ได้รู้จักภาคีเครือข่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมอชาวบ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอื่นๆ จนทำให้เกิดไอเดีย และเปิดเป็น OpenDream บริษัทที่ให้บริการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ รวมไปถึงการเลือกใช้เครื่องมือสื่อสารทางด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม (TechnologyEfficiently) เครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ มีตั้งแต่เทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน อย่าง SMS ไปจนถึงโมบายแอพพลิเคชัน เพื่อสร้างให้เกิดอิมแพ็กต์ของการรับรู้ในวงกว้าง โดยการบริหารจัดการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ (Cost Effectiveness) ด้วยการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ คุยถึงปัญหา ดูความต้องการของเขา แล้วจึงนำเทคโนโลยีเข้าไปแมตช์  OpenDream สานฝัน  นำเทคโนโลยีขับเคลื่อนสังคม

คุณหนึ่ง “ยกตัวอย่าง โปรเจ็กต์ล่าสุด My Sis บริการแชตบอตให้คำปรึกษาผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ทำร่วมกับดีแทค ผ่านโครงการ “พลิกไทย” โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหยื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้นตอกยํ้าบทบาทเทคโนโลยีดิจิทัลต่อการพัฒนาสังคม และยังทำงานร่วมกับ พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ผู้ริเริ่มโครงการแชตบอตเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว และ สำนักยุทธศาสตร์และแผน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งบริการแชตบอตนี้เพิ่งเปิดตัวและยังอยู่ในช่วงทดลองการใช้งาน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบให้สอดรับกับความเป็นจริงให้มากที่สุด 

“หลังจากมีคนเข้ามาใช้แล้ว เราจะขยายผล เนื้อหาอะไรที่ขาด หรือต้องเพิ่มเติมอะไร ก็จะขยายผลไปเรื่อยๆ ระบบที่ทำขึ้นต้องการข้อมูล หรือเคสเยอะๆ เพื่อมาทำให้เขาฉลาดขึ้น โดยคาดการณ์ช่วงแรกจะมีคนเข้ามาใช้ประมาณ 1,000 คนต่อวัน”... “คุณหนึ่ง” ยอมรับว่า การทำแชตบอตช่วงแรกไม่ยาก แต่จะทำให้ดียากมาก การจะทำให้เทคโนโลยีเข้าใจภาษาคนจริงๆ ในขณะที่การพูดคุยและการใช้ภาษาในเคสลักษณะนี้มีความอ่อนไหวต่ออารมณ์ของผู้แชต ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก 

งานที่ OpenGream ถนัด คือ งานทางด้านสังคม โดย OpenDream มองตัวเองเป็นส่วนเสริม เป็นกำลังสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างให้เกิดอิมแพ็กต์เพิ่มขึ้น 100 เท่า 1,000 เท่า โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่ คือการเลือกใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่มีอยู่ในตลาด 

ส่วนการคัดเลือกโปรเจ็กต์ที่จะเข้ามาไปทำงานร่วมกัน“คุณหนึ่ง” บอกว่า ดูที่ความเหมาะสมต่างๆ ทั้งเรื่องของเวลา ความจำเป็น รวมทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย หากหน่วยงานที่มาติดต่อไม่มี จะต้องทำอย่างไร หรือจะต้องไปหาทุนอย่างไร ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย 

ความยากและความท้าทายในการทำธุรกิจที่เป็น SE คือ การทำให้องค์กรอยู่รอด ซึ่ง “คุณหนึ่ง” และผู้ร่วมก่อตั้ง สามารถทำได้ตั้งแต่ 3-4 ปีแรกหลังเปิดบริษัท และขณะนี้องค์กรก็ยังคงเดินหน้า ด้วยพนักงานประมาณ 20 คน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า บางครั้ง พนักงานอาจจะหายากบ้าง เพราะเด็กจบใหม่แรกๆ อาจไฟแรง อุดมคติสูง แต่เมื่อลองทำแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ ก็จะมีพนักงานที่หมุนเวียนออกไปบ้าง เพราะความต้องการในตลาดแรงงานสำหรับสายเทคโนโลยีมีค่อนข้างสูง ขณะที่ผลตอบแทนก็สูงด้วยเช่นกัน 

อีกหนึ่งความยาก สำหรับการทำธุรกิจ SE คือ การเข้าใจตัวเอง ต้องรู้ก่อนว่าเราต้องการแก้ปัญหาอะไร อะไรที่เราถนัด อะไรที่เราอยากแก้ และสร้างเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนจริงๆ บางอย่างก็แก้ได้ยาก มันไม่ได้ช่วยอะไร แค่แก้คันตัวเอง หรือบางครั้งทำแล้วดีมาก แต่มันไม่ได้เป็นความต้องการของตลาด ก็ไม่มีใครมาช่วยซัพพอร์ตเรื่องเงิน เราต้องหาบาลานซ์ ว่างานนี้ได้ประโยชน์ และมีคนยอมจ่ายตังค์

 

การทำงานตรงนี้ “หนึ่ง” บอกว่า มีความท้าทายเข้ามาเรื่อยๆ ต้องอยู่ที่เราวางตัวอย่างไร ต้องดูว่าอันไหนที่เราพอช่วยได้ ต้องรู้ว่าจะนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา และ Empower คนอื่นได้อย่างไร แน่นอนการทำงานที่ผ่านมา มีงานจำนวนมากที่ล้มเหลว เนื่องจากด้านสังคมเป็นงานที่เกี่ยวกับคนจำนวนมาก มันเป็นปัญหาสังคม ที่มีความซับซ้อน การแก้ไขจึงไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องอาศัยพาร์ตเนอร์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 

...สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานลุล่วงไปได้ คือ การบริหารอารมณ์ของคนในทีม และตัวเองให้ได้ ต้องทำให้ตัวเราเองไม่หมดไฟ 

การคิดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ของ OpenDream ยังมีอยู่เรื่อยๆ อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดในยุคนี้ คือ การสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคน การสร้างงานให้คนเข้ามาช่วยเอไอทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีคนกลัวว่า เอไอจะเข้ามาแทนที่คน ทำให้คนตกงาน แต่ “คุณหนึ่ง” และทีม คิดในทางกลับกัน ในเมื่อเอไอต้องทำงานผ่านข้อมูล และคนสามารถป้อนข้อมูลให้กับเอไอได้ เพราะฉะนั้น คนก็สามารถทำงานสนับสนุนเอไอ ให้ได้ประสิทธิภาพงานที่ดีขึ้นได้เช่นกัน 

ทิศทางของ OpenDream ยังคงเดินหน้างานเพื่อสังคมต่อไป โดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นความถนัดเฉพาะตัวมาช่วย ด้วยทัศนคติที่ดีในการทำงาน ที่มองว่า งานแต่ละโปรเจ็กต์มีความท้าทายและมีความสนุกในตัวของมัน ยิ่งเมื่อผลงานสำเร็จ สังคมได้ประโยชน์ ได้ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่ดี นั่นก็คือรางวัลสำหรับคนทำงาน SE อย่าง OpenDream นั่นเอง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่3,480 วันที่ 20 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562

OpenDream สานฝัน  นำเทคโนโลยีขับเคลื่อนสังคม