อุดรฯสะพัดเดือนละพันล้าน แชมป์‘แรงงานไทยไปต่างแดน’

22 ก.ค. 2562 | 23:30 น.

รายงาน : โดย ยงยุทธ ขาวโกมล

แรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ต่างประเทศ ตัวเลขล่าสุดเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวน 155,734 คน ได้ส่งเงินกลับผ่านระบบธนาคาร เฉลี่ยเดือนละประมาณกว่า 12,000 ล้านบาท รวมทั้งปีของปี 2561 มียอดรวม 144,451 ล้านบาท แม้จะลดความสำคัญลงจากอดีต แต่ก็เป็นเม็ดเงินอีกก้อนที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีพจรเศรษฐกิจไทย และจุนเจือครอบครัวของเหล่านักรบแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในจำนวนนี้เป็นนักรบแรงงานไทยจากจังหวัดอุดรธานีมากที่สุด

อุดรฯสะพัดเดือนละพันล้าน แชมป์‘แรงงานไทยไปต่างแดน’

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า แรงงานชาวจังหวัดอุดรธานีที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ มีประมาณ 10,000 คนเศษ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของทั้งประเทศ มีรายได้เข้าสู่จังหวัดประมาณ 1,000 ล้านบาทเศษต่อเดือน จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จะต้องให้การคุ้มครองดูแลแรงงานเหล่านั้น ปัจจุบันการไปทำงานต่างประเทศยังมีปัญหา ส่วนหนึ่งก็ยังเดินทางผ่านการบอกเล่า ผ่านนายหน้าที่ไม่ถูกกฎหมาย ไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง หรือผ่านระบบส่งผ่านรัฐกับรัฐ เช่น ประเทศเกาหลี อิสราเอล ไต้หวัน เป็นต้น

อุดรฯสะพัดเดือนละพันล้าน แชมป์‘แรงงานไทยไปต่างแดน’

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในท้องถิ่น ร่วมกับนายจ้างประเทศต่างๆ พยายามแก้ไขปัญหา เพื่อให้การเดินทางไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทยให้ถูกต้องตามกฎหมาย และให้ได้รับการคุ้มครอง มีรายได้กลับมาสู่ประเทศและครอบครัวเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องไปอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ

เนื่องจากหน่วยงานในท้องถิ่น ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือ อพปร.ประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับแรงงาน ทำอย่างไรที่แรงงานจะหันมาเชื่อถือ มากกว่าเชื่อตามเพื่อนฝูง ญาติ หรือตัวแทนนายหน้าเถื่อน รวมทั้งช่วยเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องบุคคลต้องสงสัยแจ้งเตือนภัยแก่หน่วยงานในจังหวัดหรือส่วนกลางได้ทันท่วงที เพราะมีความใกล้ชิดหรือเป็นเครือญาติกันในชุมชนอยู่แล้ว ประการสำคัญคนที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถไปสอบถามข้อมูลที่ถูกต้องได้จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด

 

อุดรฯสะพัดเดือนละพันล้าน แชมป์‘แรงงานไทยไปต่างแดน’

ขณะเดียวกันกรมการจัดหางานได้จัดวันนัดพบแรงงาน เป็นมหกรรมเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประสงค์จะหางานทำ ผู้ต้องการเปลี่ยนงานได้เลือกตำแหน่งงานที่ตรงกับความรู้ ความสามารถ ทั้งยังได้สมัครงานกับนายจ้างหรือสถานประกอบการโดยตรง ขณะเดียวกันนักเรียน นักศึกษา ผู้ว่างงาน คนหางานก็ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารด้านอาชีพ สามารถใช้เป็นแนวทางในการเลือกประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม เป็นการลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้อีกทางหนึ่ง โดยที่จังหวัดอุดรธานีจัดไปเมื่อวันที่ 10-11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า งานครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาการจัดงานวันนัดพบแรงงานให้มีความทันสมัยกว่าที่ผ่านมา มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การลงทะเบียนผ่านอินเตอร์ เน็ต การสอบถามตำแหน่งงานผ่านตู้งานหรือ Job box มาให้บริการ มีองค์กร สถานศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน มาออกบูธนิทรรศการ การฝึกอาชีพอิสระให้ได้เรียนรู้หลายสิบแห่ง มีสถานประกอบการทั้งในอุดรและพื้นที่ใกล้เคียง มารับสมัครและสัมภาษณ์งานกว่า 40 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 36 ตำแหน่ง จำนวน 3,500 อัตราอีกด้วย

ส่วนเรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นวันละ 400-425 บาทนั้น นายสุทธิกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังเร่งมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงสถานผู้ประกอบการ ในการจัดทำแผนพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับอัตราค่าแรงให้มีความเหมาะสมกันทุกฝ่าย เรียกว่าสร้างผลิตภาพแรงงานให้ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานได้ประกาศมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งมีอัตราสูงกว่าค่าแรงขั้นตํ่าไปแล้ว 83 มาตรฐาน เป็นค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งแรงงานสามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะของตนเอง และติดต่อสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด เข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อรับค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,489 วันที่ 21 - 24 กรกฎาคม 2562

อุดรฯสะพัดเดือนละพันล้าน แชมป์‘แรงงานไทยไปต่างแดน’