รักษ์ธรรมชาติ มีทางออกให้ ‘นํ้า ทะเล ป่า’

09 ส.ค. 2562 | 16:15 น.

ในงาน Set Social Impact ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี” นักแสดงและเจ้าของรายการ Navigator ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติไว้อย่างน่าสนใจเขาบอกว่า “การอนุรักษ์ธรรมชาติแบบเพียวๆ ไม่มี มีเพียงแต่ทำอย่างไรให้รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด โดยที่ปัจจุบันพื้นที่ป่าของไทยมีอยู่ราว 31% ของพื้นที่ทั้งหมด 

หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาเรื่องป่า หรือธรรมชาติที่ถูกบุกรุก คือ ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ แล้วทำให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน ทุกฝ่ายต้องมีการสื่อสาร ตอนนี้พื้นป่าเหมือนเกาะกลางทะเล สังคมกำลังเติบโต ชุมชนเติบโต การหาพื้นที่ทำกินมีมากขึ้น ทำให้มีผลต่อพืชพันธุ์และสัตว์ป่า “ความเจริญสามารถเข้าไปในพื้นที่ของธรรมชาติได้ แต่คน และระบบการจัดการ ต้องมีการเรียนรู้และมีการจัดการที่ดี”

รักษ์ธรรมชาติ มีทางออกให้ ‘นํ้า ทะเล ป่า’

“อเล็กซ์ เรนเดล” นักแสดงผู้ก่อตั้ง EEC Thailand หรือศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เรื่องของการศึกษา การให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ EEC Thailan จัดค่ายให้เยาวชนได้ศึกษาและกระตุ้นการเรียนรู้
เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจัง ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ อนาคตก็คือกำลังของชาติ และเขาจะเป็นผู้ส่งต่อความรู้ไปสู่คนในครอบครัว คนรอบข้าง เพื่อขยายผลต่อไป 

การให้ความรู้ ในความหมายของผู้ก่อตั้ง EEC Thailand ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ด้วยสมองแบบธรรมดาทั่วไป แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยหัวใจ ด้วยจิตสำนึก ซึ่งจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจและผลักดันไปสู่การลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้อง เด็กๆ จะนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อ ด้วยการสร้างให้เป็น Knowledge Sharing Platform...มันคือการรักษา อีโค ซิสเต็มให้กับธรรมชาติ 

อีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจของ “ชนินท์ ศรีสุมะ”ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีฟิล สเตชั่น จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคมลดขยะให้โลก ที่ทำธุรกิจในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม ด้วยคอนเซ็ปต์ ที่ทำให้ “การซื้อของ ไม่สร้างขยะเพิ่ม” ด้วยวิธีการขายสินค้าโดยไม่มีบรรจุภัณฑ์ แต่ให้ผู้ซื้อนำบรรจุภัณฑ์มาใส่สิ่งที่ซื้อเอง เช่น นํ้ายาล้างจาน นํ้ายาซักผ้า หรืออื่นๆ ผู้ซื้อจะได้ของในราคาที่ถูกลงประมาณ 10% และไม่ต้องรับบรรจุภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่มขึ้นมาอีก 

รักษ์ธรรมชาติ มีทางออกให้ ‘นํ้า ทะเล ป่า’

“ชนินท์” ยอมรับว่า บรรจุภัณฑ์ หรือแพ็กเกจจิ้ง คือสิ่งที่ทำให้คนอยากซื้อของ แต่ในรูปแบบธุรกิจของเขาที่ไม่มีแพ็กเกจจิ้ง จะต้องทำอย่างไรให้คนอยากกลับมาซื้อของซํ้าและต่อเนื่อง ในกระบวนการคิดของเขาคือ การนำบรรจุภัณฑ์มาใส่สินค้ากลับไปใช้เอง ผู้ซื้อสามารถกำหนดปริมาณการใช้ได้ หรือหากสนใจสินค้าตัวไหน ก็สามารถมาซื้อไปทดลองใช้ก่อนได้ ตรงนี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ได้ด้วย การทำการตลาด ไม่จำเป็นต้องใช้แพ็กเกจจิ้งอย่างเดียว การตลาดสามารถเสริมด้วยส่วนอื่นๆ ได้อีกมากมาย 

“ท็อป - พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร” Eco Designer และผู้ก่อตั้ง บริษัท คิดคิด จำกัด บอกว่า ขณะนี้เขากำลังออกแบบให้สายการบินแอร์เอเชีย ไปพัฒนาสินค้าชุมชน จาก 4 ภูมิภาค และยังเปิดแอพพลิเคชัน “ECOLIFE” รณรงค์ลดการใช้พลาสติก สะสมแต้มนำไปลดหย่อนภาษี นำร่องใช้ในมหาวิทยาลัยช่วงต้นปี 2562 

ECOLIFE จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการรณรงค์ เพื่อให้ทุกคนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยแอพพลิเคชันนี้จะมีการเก็บสถิติทั้งหมดว่า ใครบ้างที่สามารถลดการใช้พลาสติกได้ ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ ที่ไหน เมื่อไหร่ สามารถวัดผลได้จริงแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถทำได้แบบรายคน และทั้งแบบบริษัท โดยผู้ที่ลดการใช้พลาสติกจะได้คะแนนจากในแอพพลิเคชันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ในบริษัทอาจนำคะแนนไปแลกตั๋วหนัง หรือโซนนิ่งสำหรับการหลับ เครื่องชงกาแฟ รวมไปถึงโบนัสปลายปี แล้วแต่องค์กรจะนำไปพัฒนาใช้ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจกับพนักงานในการทำความดี โดยล่าสุด บริษัท บีซีพีจีฯ กำลังจะนำไปเริ่มใช้ 

ทั้งหมดนั้นคือแนวทางซึ่งเป็นทางออกของการช่วยกันลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และรณรงค์รักษาธรรมชาติ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,494 วันที่ 8 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รักษ์ธรรมชาติ มีทางออกให้ ‘นํ้า ทะเล ป่า’