การชุมนุมดับเศรษฐกิจฮ่องกง 2 เดือนตลาดหุ้นเสียหาย กว่า 15 ล้านล้าน

14 ส.ค. 2562 | 15:00 น.

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 สัปดาห์กำลังกัดกร่อนเศรษฐกิจของฮ่องกงเองอย่างรุนแรงและทำลายภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางการเงินและการท่องเที่ยวที่เปิดเสรีและปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ชนิดที่หลายฝ่ายพากันหวั่นวิตกว่าหากปล่อยให้ยืดเยื้อเนิ่นนานกว่านี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเกินแก้ไขเยียวยา นับตั้งแต่ที่การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนจนถึงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฮ่องกงเสียหายไปแล้วเฉียดๆ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 15.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ดัชนีหุ้นฮั่งเส็งของตลาดหุ้นฮ่องกงทำสถิติดิ่งลงสู่ระดับตํ่าสุดรอบ 7 เดือน

นายปีเตอร์ วู ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดและอดีตประธาน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ วีล็อค แอนด์ โค.ในฮ่องกงให้ความเห็นว่า การชุมนุมประท้วงน่าจะยุติลงได้แล้วหลังจากที่ผู้ชุมนุมสามารถขัดขวางการพิจารณากฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน(ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่) เป็นผลสำเร็จ โดยรัฐบาลฮ่องกงยืนยันว่าจะไม่มีการนำกฎหมายเจ้าปัญหาดังกล่าวมาพิจารณาอีก ถือเป็นจุดสิ้นสุดของเรื่องนี้แล้ว “ถึงเวลาที่เราต้องใคร่ครวญเรื่องนี้ให้ลึกซึ้ง ถ้าหากว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นต้นไม้ใหญ่ต้นเหตุเรื่องทั้งปวง เวลานี้ต้นไม้ต้นนี้ก็ได้โค่นลงมาแล้ว แต่มีคนบางคนที่พยายามใช้มันกวนเรื่องยุ่งยากต่างๆ ขึ้นมา” สำหรับปีเตอร์ วูเอง นับตั้งแต่ที่เกิดเหตุประท้วงปรากฏว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่เขาถือครองอยู่ หดหายไปแล้วกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์

การยกระดับความรุนแรงของการชุมนุมพุ่งขึ้นสู่จุดเดือดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 เมื่อ กลุ่มผู้ประท้วงใน ชุดขาวใช้อาวุธทำร้ายผู้ชุมนุมอีกกลุ่มที่ใส่ชุดดำในสถานีรถไฟใต้ดินหยวนหลงและมีการเผยแพร่ภาพทางโซเชียล มีเดียออกไปในวงกว้าง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่เร่งรัดติดตามเรื่องและไม่ควบคุมสถานการณ์ให้ดีพอทำให้ผู้ชุมนุมโดยสันติตกอยู่ในอันตราย ทำให้การชุมนุมเรียกร้องการยกเลิกพิจารณากฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในตอนแรกจึงเปลี่ยนจุดโฟกัสใหม่มาเป็นการชุมนุมประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อตำรวจและรัฐบาลฮ่องกง พร้อมกับการเรียกร้องให้นางแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงลาออก นับจากการชุมนุมช่วงแรกจนถึงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ชุมนุมแล้วราว 600 คน

“ผลพวงของการชุมนุมประท้วงจะกระทบเศรษฐกิจของฮ่องกงเหมือนกับคลื่นยักษ์สึนามิ” นางแคร์รี แลม กล่าวกับตัวแทนนักธุรกิจเอกชนในฮ่องกงที่มาร่วมประชุมประเมินสถานการณ์กับผลกระทบทางเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้านสมาคมนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงได้ออกแถลงการณ์ 1 วัน ก่อนหน้านั้นและร่วมลงนามโดย 17 สมาชิกชั้นแนวหน้า ซึ่งรวมถึง บริษัท วีล็อคฯ บริษัท ซุน ฮุง ไค พร็อพเพอร์ตีส์ฯ (เจ้าของโครงการตึกระฟ้าที่สูงที่สุด 3 แห่งในฮ่องกง) และฮัทชิสัน พร็อพเพอร์ตีส์ฯ ของมหาเศรษฐีลีกาชิงว่า ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายคืนความสงบสุขสู่ฮ่องกงและยุติการใช้ความรุนแรง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท วาร์ฟ โฮลดิ้งส์ ในเครือวีล็อค รายงาน ผลประกอบการที่กำไรลดลงอย่างเด่นชัด บริษัทระบุว่าเป็นผลจากอุปสงค์ในฮ่องกงที่แผ่วบางลงซึ่งมีสาเหตุจากการออกหนังสือเตือนนักท่องเที่ยวที่จะมาฮ่องกงให้เพิ่มความระมัดระวัง เศรษฐกิจที่ชะลอตัว การส่งออก/นำเข้าที่ลดลง ยอด ค้าปลีกลดลง ความอ่อนไหวในตลาด หุ้น และตลาดแรงงานที่แผ่วลง

การชุมนุมดับเศรษฐกิจฮ่องกง  2 เดือนตลาดหุ้นเสียหาย กว่า 15 ล้านล้าน

ภาพลักษณ์ของการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการค้าปลีกของฮ่องกงที่เสรีและปลอดภัยถูกการชุมนุมที่ทวีระดับความรุนแรงทำลายจนยากที่จะคืนสู่ความสงบสุขในเร็ววัน ไม่เพียงถนนหลายสายในย่านชุมชน ย่านธุรกิจและแหล่งช็อปปิ้งจะถูกยึดเป็นสถานที่ชุมนุมทำให้ร้านรวงรายทางในพื้นที่ชุมนุมต้องปิดบริการชั่วคราว การปะทะยังลุกลามสู่สถานีรถไฟใต้ดินและส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งมวลชน ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงที่เมื่อปีที่ผ่านมา (2561) รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ 427,725 เที่ยวบินและได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการบินที่มีผู้โดยสารเข้า-ออกมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ทั้งยังมีเที่ยวบินขนส่งสินค้ามากที่สุดในโลก ถูกยึดเป็นสถานที่ชุมนุมเป็นเวลา 5 วันแล้วนับจากศุกร์ที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา “ยิ่งชุมนุมประท้วงกันนานเท่าไหร่ ความท้าทายก็มากขึ้นเท่านั้นสำหรับฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ” โรรี กรีน นักวิเคราะห์จากสถาบันทีเอส ลอมบาร์ด ในกรุงลอนดอน ให้มุมมอง ซึ่งไม่ต่างจากนักวิเคราะห์คนอื่นๆ มากนักในช่วงเวลานี้ นาง แคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ยอมรับว่าการชุมนุมประท้วงส่งผล กระทบทางเศรษฐกิจของฮ่องกงรุนแรงกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2546 และจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

 

ผลพวงจากการปิดสนามบินเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในฮ่องกงแต่ก็เกิดขึ้นแล้ว และยังคงจะดำเนินต่อไปเนื่องจากผู้ประท้วงประกาศนัดหมายชุมนุมที่สนามบินทุกบ่ายและจะมีการชุมนุมครั้งใหญ่ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ “ความวุ่นวายในฮ่องกงเริ่มยาวนานเกินกว่าที่ใครๆ คาดคิด และยังมีการใช้ความรุนแรงมากเกินคาด” สตีเฟ่น เหลียง ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท Uob Kay Hian (Hong Kong) ยอมรับและให้ความเห็นว่า ตราบเท่าที่มีการชุมนุมและใช้ความรุนแรงกันทุกสัปดาห์แบบนี้ นักลงทุนก็คงไม่คิดเข้ามาซื้อสินทรัพย์ในฮ่องกงอย่างแน่นอน” อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานี้ 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3496 ระหว่างวันที่ 15 - 17 สิงหาคม 2562