อัดฉีดเงินกระตุ้นฐานราก รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย

17 ส.ค. 2562 | 05:20 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3497 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-21 ส.ค.2562

 

อัดฉีดเงินกระตุ้นฐานราก

รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย

 

                  ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 316,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินจากสถาบันเฉพาะกิจของรัฐ 207,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกองทุนต่างๆ 5 หมื่นล้านบาท และเงินงบกลางไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีการเสนอให้ที่ประชุมครม.ชุดใหญ่พิจารณาในวันอังคารที่ 20 สิงหาคมนี้

                  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนที่กำลังจะออกมาในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 2.มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนประเทศ และ 3. มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 3%

                  นอกจากนี้ยังตั้งแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในปี 2562-2563 ไว้ 7 ด้าน คือ 1. การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก 2. การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ 3. การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและรายได้สุทธิของเกษตรกร 4. การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและเม็ดเงินภาครัฐ 5. ขับเคลื่อนการส่งออก โดยมีเป้าหมายในครึ่งหลังปีนี้จะต้องขยายตัวได้ 3% และการส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% 6. การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว โดยกำหนดเป้าหมายปีนี้มีนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคน และปีหน้าที่ 41.8 ล้านคน และ7. การสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน

                  เมื่อพิจารณาจากรายละเอีดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนครั้งนี้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลได้ปรับเพิ่มเม็ดเงินอัดฉีดมากกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 2 แสนล้านบาท เป็น 3 แสนล้านบาท พุ่งเป้าไปที่การอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบฐานรากเพื่อช่วยเหลือ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 3-4 รอบ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท

                  ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้มีความเสี่ยงจะเผชิญกับภาวะถดถอย จากปรากฏการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น หรือ Inverted yield curve หนึ่งในเครื่องมือทำนายการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ค่อนข้างแม่นยำ และอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟดในช่วงที่เหลือของปีมากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆทั่วโลกปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง

                  ขณะที่ความตึงเครียดสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกยังไม่มีท่าทีจะยุติ ส่งผลให้การส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาติดลบ 2.9% เราจึงเห็นด้วยที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก