รุก-รับ-เร็ว จัดการก่อนวิกฤติ

21 ส.ค. 2562 | 08:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3498 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค.2562

 

รุก-รับ-เร็ว

จัดการก่อนวิกฤติ

 

              สำนักงานสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกมาแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562 ขยายตัว 2.3% เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสแรก 0.6% ซึ่งเป็นการขยายตัวตํ่าสุดในรอบ 19 ไตรมาส นับจากปี 2557 และคาดว่าเป็นจุดตํ่าสุดในปีนี้แล้ว โดยรวมครึ่งปีแรกจีดีพีขยายตัวที่ 2.6%

              สศช.ยังปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีทั้งปีไว้ที่ 2.7-3.2% (3.0%) พร้อมปรับลดตัวเลขคาดการณ์การส่งออกเป็นขยายตัวลดลงเหลือ 1.2% จากเดิม 2.0% ซึ่งเป็นการลดลงตามการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกที่สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง

              แม้สศช.จะยํ้าว่าภาวะเศรษฐกิจไทยไม่เข้าขั้นวิกฤติ แค่อาการเซๆเท่านั้น โดยต้องทำงานอีกมากในช่วงครึ่งปีหลังไล่ตั้งแต่ การเร่งรัดการส่งออก การพลิกฟื้นการท่องเที่ยวดึงนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงในปีงบประมาณ 2562 ไม่ตํ่ากว่า 60% เร่งรัดเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 ไม่ตํ่ากว่า 70% เตรียมแผนงานและโครงการให้มีความพร้อมและเบิกจ่ายได้ทันที ที่พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านสภา รวมทั้งรักษาความเรียบร้อยและบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ

              แม้สศช.จะไม่ชี้ว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่หากพิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกที่ถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรงและมีการคาดการณ์ไปถึงการถดถอยรอบใหม่ของเศรษฐกิจโลกในช่วงปีหน้าแล้ว ภาวะเศรษฐกิจไทยจึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกกระทบที่รุนแรงกว่านี้

              รัฐบาลจึงต้องบริหารงานในแบบสถานการณ์วิกฤติที่มียุทธศาสตร์และการปฏิบัติที่รวดเร็ว ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ไม่มุ่งเน้นงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบรายวัน โดยตัวนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำในการบริหารจัดการในแต่ละวาระให้เบ็ดเสร็จ ซึ่งอาจใช้เวทีเวิร์กช็อป ในเรื่องสำคัญระดมทุกฝ่ายเอกชน หน่วยงานรัฐ ปรับลด ปลด แก้ ระเบียบ กฎหมาย กำหนดวิธีปฏิบัติ เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคให้เสร็จภายใน 1-2 วัน ต้องเข้าจัดการปัญหามากกว่ารอให้หน่วยงานเสนอขึ้นมาซึ่งอาจจะสายเกินไปและไม่ทันกับสถานการณ์