ธ.ก.ส.รับ เกษตรกรเสียหายน้ำท่วม 1 ล้านราย

17 ก.ย. 2562 | 10:39 น.

ธ.ก.ส.รอประเมินเกษตรกรอีสานเสียหายจากน้ำท่วม คาดเบื้องต้นกระทบ 1 ล้านราย ลั่นพร้อมเพิ่มวงเงินช่วยเหลือ หาก 55,000 ล้านบาทไม่พอ พร้อมจ่ายเงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีสัปดาห์หน้า

               นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างการรอประเมินความเสียหายเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะต้องเข้าไปสำรวจความเสียหายได้เมื่อน้ำลดแล้ว แต่เบื้องต้นคาดว่า จะมีลูกค้าเกษตรกรได้รับความเสียหายประมาณ 1 ล้านราย ซึ่งมาตรการที่ออกมามีวงเงินสินเชื่อช่วยเหลือรวม 55,000 ล้านบาท หากไม่พอก็จะสามารถขอคณะกรรมการ(บอร์ด)พิจารณาเพิ่มวงเงินช่วยเหลือได้อีก ดังนั้นจึงไม่น่ามีปัญหาในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาในครั้งนี้

ธ.ก.ส.รับ เกษตรกรเสียหายน้ำท่วม 1 ล้านราย

               “การประเมิน เราจะทำร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพื้นที่ สำรวจว่ามีเกษตรกรได้รับความเสียหายเท่าไร แต่ถ้าสำรวจว่าลูกค้าธ.ก.ส.รายไหนเสียหายสิ้นเชิง ก็จะได้รับเงินชดเชยจากการประกันภัยนาข้าวเพิ่มเติมอีกไร่ละ 1,260 บาท ซึ่งเราจะจ่ายเงินหลังสำรวจความเสียหายแล้ว ส่วนโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ จะทยอยจ่าย ให้กับเกษตรกรในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป”

ส่วนมาตรการช่วยเหลือภาระหนี้สินที่เกษตรกรมีกับ ธ.ก.ส. กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และมีสินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติวงเงินรวม 55,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน บรรเทาความเดือดร้อน จำเป็นในครัวเรือนและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ในช่วง 6 เดือนแรก และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ  500,000 บาท  คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับ  4.875% ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี ซึ่งขณะนี้ธนาคารให้สินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติไปแล้ว 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นในส่วนของการให้สินเชื่อช่วยเหลือปัญหาภัยแล้ง