โอกาส ‘จับคู่’ ธุรกิจยานยนต์ไทย-เช็ก

28 พ.ค. 2559 | 11:00 น.
จากสถิติเมื่อปี 2558 ของ OICA หรือ International Organization of Motor Vehicle Manufacturers ไทยและสาธารณรัฐเช็ก ต่างเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ติด 1 ใน 20 อันดับแรกของโลกโดยไทยผงาดอยู่ในอันดับที่ 12 ในขณะที่เช็กรั้งตำแหน่งในอันดับที่ 16 ด้วยยอดการผลิต 1.9 ล้านคันและ 1.3 ล้านคันตามลำดับ

ในเอเชีย ไทยมีชื่อเสียงในฐานะฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคฉันใด ในยุโรป เช็กก็เป็นที่รู้จักมายาวนานในฐานะเดียวกันฉันนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็กเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่มีประวัติความเป็นมานานนับศตวรรษและเป็นหนึ่งในหัวจักรหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช็กเป็นทั้งฐานการผลิตและการออกแบบยานยนต์ที่หนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยังครองสถิติประเทศที่มีการผลิตยานยนต์ต่อหัว per-capita output ในอันดับต้นๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว จะมีการผลิตรถยนต์โดยสารจำนวน 107.5 คันต่อประชากรทุก 1,000 คน ส่วนการผลิตเฉพาะชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ก็มีมูลค่ารวมสูงกว่า 19,000 ล้านยูโร

สาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของที่นี่เฟื่องฟูนั้น หลักๆ ก็คือ การเป็นประเทศวิศวกรรมมาแต่ดั้งแต่เดิม คนส่วนใหญ่จบการศึกษาในสาขาวิศวกรรม และได้รับการขนานนามนับแต่อดีตว่า เป็นเยอรมนีของโลกยุโรปกลาง/ยุโรปตะวันออก ซึ่งหมายความว่ามีผลผลิตและเทคโนโลยีเทียบชั้นเยอรมนี แต่หาซื้อได้ในราคาที่ย่อมเยากว่า ทำให้มีทั้งแรงงานทักษะที่มีคุณภาพ และยังมี R&D เพื่อหาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

จึงไม่น่าแปลกใจสักเท่าใดที่จะมีธุรกิจมาลงทุนในเช็ก ผลิตรถยนต์ รถบัส รถบรรทุก รถแทร็กเตอร์ รถราง สารพัดยานยนต์ และส่วนประกอบอย่างไม่ขาดสาย ทั้งเปิดโรงงานและตั้งเป็นสำนักงานระดับภูมิภาค

ประมาณการกันว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในภาคยานยนต์ของเช็กมีมูลค่าสูงกว่า 1,400 ล้านยูโร ซึ่งรวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็น Skoda แบรนด์เก่าแก่ของเช็กที่กลายเป็นสมาชิกในครอบครัว Volkswagen ไปแล้ว แบรนด์สัญชาติเกาหลี ทั้ง Hyundai และ KIA แบรนด์แถวหน้าของญี่ปุ่น เช่น Toyota ที่ร่วมทุนกับ Peugeot และ Citroen และอีกหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ Iveco, Tatra, Avia รวมถึงบริษัทผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่รายโตอย่าง Continental, Denso, Bosch และ Magna เป็นต้น

ในด้านการใช้งานภายในประเทศเอง จำนวนคนที่ซื้อรถยนต์ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานรถยนต์โดยเฉลี่ยค่อนข้างนาน สูงถึง 14 ปีต่อคัน ดังนั้น ความต้องการสินค้าอะไหล่และอะไหล่ทดแทน ทั้ง REM และ OEM จึงมีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งโอกาส "จับคู่" ของธุรกิจไทยก็อยู่ตรงนี้ด้วยเช่นกัน

ถ้าถามว่าไทยมีการส่งออกสินค้าด้านยานยนต์มาเช็กด้วยไหม? คำตอบคือ มี แล้ว การลงทุนล่ะมีไหม? คำตอบคือ ยังไม่มี ...ธุรกิจไทยจึงยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่เช็กพร้อมจะมอบให้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ประเทศอื่น โดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนทยอยกันบุกมาลงทุนผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ในเช็กเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เท่ากับว่าจะค่อยๆ เบียดพื้นที่ของสินค้าจากไทยในตลาดทั้งในเช็กและในยุโรปให้ลดน้อยถอยลง การมาลงทุนหรือมาร่วมทุนเปิดหน้าร้านสานต่อการผลิตที่เช็กเลย จึงเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม ในทางกลับกัน ควรจะตั้งใจมองด้วยซ้ำไป

เพราะนอกจากจะสามารถใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถในด้านวิศวกรรม การประกอบ และการผลิตของเช็กแล้ว การมาลงหลักปักฐานที่นี่ ยังทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดอียู มีข้อได้เปรียบในด้านโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าโดยใช้จุดเด่นของเช็กจากการที่มีที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรปได้ด้วย นอกจากนี้ ช่วงนี้ยังเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการมาลงทุนที่เช็ก เพราะเศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างคึกคัก ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเช็กสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของยูโรโซนถึง 2 เท่า นโยบายภาครัฐก็อ้าแขนเปิดรับทุนต่างประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อมูลจากแหล่งข่าววงในด้วยว่า เจ้าของกิจการในเช็กจำนวนหนึ่งกำลังจะถึงวัยปลดเกษียณ เลยอยากให้มีธุรกิจต่างชาติมา "จับคู่" ลงขันร่วมทุนเพื่อสืบต่อกิจการกันต่อไปด้วย เรียกได้ว่า คนพร้อม เครื่องพร้อม เทคโนโลยีพร้อม...รอคู่ที่เหมาะสมมา "เติมเต็ม" ทางธุรกิจซึ่งกันและกัน
พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559