“บิ๊กต่าย”ยกเหตุร้ายแรงให้“บิ๊กโจ๊ก”พร้อม 4 ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน

18 เม.ย. 2567 | 12:38 น.

“บิ๊กต่าย”ร่ายยาวยอมรับลงมือเซ็นเองสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” พร้อม 4 ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ชี้เป็นเหตุร้ายแรง ทำให้เสื่อมเสียองค์กร ผู้ถูกกล่าวหายังมีสิทธิ์อุทธรณ์ ส่วนคดี “บิ๊กต่อ”ยังอยู่ขั้นตอนสอบสวนของ สน.เตาปูน

วันนี้(18 เม.ย. 67)  พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.)  ในฐานะรักษาราชการแทน ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ยอมรับถึงการเซ็นคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ให้ออกจากราชการไว้ก่อน 

โดยระบุว่า เรื่องการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย และการให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 ที่ตนได้แถลงต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภา เชื่อว่าทุกคนยังจำกันได้อยู่ และตอนนั้นสื่อมวลชนถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะต้องถูกพัก หรือ ออกจากราชการเลยหรือไม่ ซึ่งวันนั้นตนตอบว่าทุกอย่างขอให้เป็นไปตามกระบวนการ และขั้นตอนการพิจารณาตามกฏหมาย และกฎของคณะกรรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ คือ วันที่ 18 เม.ย. มีการรายงานพฤติการณ์แห่งคดีตามระเบียบ 

พฤติการณ์แห่งคดีกับความร้ายแรงของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จากการพิจารณาในรายงานของคณะพนักงานสอบสวน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ตั้งขึ้นมา และกองบัญชาการตำรวจนครบาลก็รายงานมาด้วยว่า พล.ต.อ.สุรเชาษฐ์ และข้าราชการทั้ง 4 นาย รวม 5 คน ได้กระทำผิดอาญาจริง

จึงได้มีการเสนอความเห็นให้ตนปฏิบัติตามกฏหมาย คือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 131 ซึ่งเป็นกรณีที่ข้าราชการตำรวจต้องหาคดีอาญา ประกอบกับมาตรา 112 ในรายละเอียดแห่งการพิจารณาว่าจะกระทำผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่มาประกอบกัน 

“จากการพิจารณาพบว่า มีความร้ายแรงของข้อเท็จจริงเกิดขึ้นจากการกระทำผิด ขณะนี้ถือว่าเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา และจากการที่ศาลได้ออกหมายจับด้วยทั้ง 5 ราย จึงจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 

จากนั้นพฤติกรรมต่างๆ และการสอบสวนของคณะกรรมการคงจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ก็ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ก็เป็นไปตามกฎของ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพัก และออกราชการไว้ก่อนทุกประการ การลงนามผมในฐานะรักษาการ ผบ.ตร. มีอำนาจตามมาตรา 105 และ 108 ถือเป็นผู้บังคับบัญชาและรักษาการ คือมีอำนาจเช่นเดียวกับ ผบ.ตร.”

รักษาการ ผบ.ตร. กล่าวว่า จากการที่ฝ่ายกองวินัยเสนอขึ้นมา ตนเป็นผู้ลงนาม ไม่ใช่นายกฯ ในคำสั่ง 2 คำสั่งนี้ แต่ในกระบวนการขั้นตอนเรารายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เนื่องจากนายกฯ เป็นผู้ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไปปฎิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายหน้าที่การงานให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ 

ดังนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องรายงานให้นายกฯ ทราบ และหลังจากที่นายกฯ ได้รับทราบแล้ว ก็สั่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ โดยนายกฯ ลงนามส่งตัว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือเป็นกระบวนการปฏิบัติที่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและกฎของ ก.ตร. ทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ 

“คำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย และคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน ผมในฐานะรักษาการ ผบ.ตร. ผมเป็นคนเซ็นเองเรียบร้อยแล้ว และมีผลตั้งแต่วันนี้ แต่กระบวนการออกจากราชการ ยังถือว่ายังต้องดำเนินการตามกระบวนการต่อไปของพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งเป็นไปตามการพิจารณาของ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักและออกราชการไว้ก่อน” 

เมื่อถามถึงกรอบระยะเวลาในการสอบวินัย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ก.ตร. และกฎหมายของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้บัญญัติเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่า ทั้งการเริ่มกระบวนการ และการขอขยายเวลาภายใน 270 วัน ถ้าไม่เสร็จก็เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่จะต้องเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด ที่ตนบอกดังนั้นกรอบเวลามีอยู่แล้ว ตนเชื่อว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จโดยเร็ว จึงต้องให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยมี พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รองผบ.ตร. เป็นประธานกรรมการสอบสวนทางวินัย 

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของท่านเลย ซึ่งประธานคณะกรรมการฯ ต้องให้โอกาสในการชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายและกฎของ ก.ตร. ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็จะใช้สิทธิ์ในการร้องทุกข์ หรืออุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตามกฏหมายตำรวจ ปี 2565 ได้ด้วย 

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทราบเรื่องแล้วใช่หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กองวินัย และคณะกรรมการฯ จะต้องแจ้งให้ท่านทราบ ตนไม่รู้ว่ามีหนังสือแจ้งไปหรือยัง ซึ่งจากวันนี้ก็ถือว่าให้ออกราชการไว้ก่อนแล้ว 

ส่วนที่หลายคนเกรงว่าการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยตรงนี้จะไม่เป็นกลาง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า คุณสมบัติของคณะกรรมการเป็นไปตามที่กำหนดใน ก.ตร.ทุกประการ แต่หากผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าไม่เป็นกลาง หรือมีกรณีที่อาจจะเสียสภาพร้ายแรงได้ ก็อาจจะโต้แย้งได้ 

เมื่อถามว่าหวั่นหรือไม่ว่าอาจจะมีการร้องไปถึงศาลปกครอง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เราพิจารณาตามกรอบของกฎหมาย และกฎของ ก.ตร. ทุกประการ ส่วนจะฟ้องร้อง หรือ ดำเนินการอะไรโต้ตอบกลับมา ตนถือว่าเป็นสิทธิ์ของท่านที่จะทำได้ 

“และถ้าถามผมว่าหวั่นไหวไหม ไม่มีความหวั่นวิตก หรือหวั่นไหวใดๆ เพราะผมถือว่าในฐานะรักษาการ ผบ.ตร. ต้องทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฏหมาย ระเบียบ คำสั่ง กฎ ก.ตร.ที่เกี่ยวข้องทุกประการ”

รักษาการ ผบ.ตร.ยืนยันว่า ไม่ได้ปุ๊บปั๊บที่จะพิจารณา แต่พิจารณามาเป็นเวลาพอสมควร ซึ่งข้อเท็จจริงพฤติกรรมแห่งคดี และความร้ายแรงของข้อเท็จจริงปรากฏเป็นที่ชัดเจนว่า เป็นการกระทำที่มีการผิดวินัยร้ายแรงเกิดขึ้นแล้ว จึงจำเป็นต้องตั้งกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัย 

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีได้กำชับหรือสั่งการอะไรบ้าง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ท่านให้ดำเนินการไปตามกฏหมายระเบียบคำสั่งอย่างเคร่งครัดและรอบคอบเท่านั้นเอง 

ส่วนคดีของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ในกรณีของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ขณะนี้ตนทราบรายละเอียดแค่เพียงว่ามีการร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สน.เตาปูน ดังนั้น กระบวนการก็ต้องไปเริ่มการสอบสวนที่ สน.เตาปูน ตามลำดับขั้นตอนเช่น ตนทราบแค่นี้ 

เมื่อถามย้ำหากวันหนึ่งเรื่องดังกล่าวต้องมาถึงขั้นนี้ในแบบเดียวกัน ก็ต้องดำเนินการแบบเดียวกันใช่หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ก็เป็นอำนาจของผู้มีอำนาจในการพิจารณาตามมาตรา 105 คือนายกรัฐมนตรี เพราะผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ก็คือนายกรัฐมนตรีว่ามาตรฐานเป็นอย่างไร กฎหมายเป็นอย่างไร กฎระเบียบเป็นอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น ใครถูกกล่าวหาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน 

“จากนี้ไปคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ก็จะต้องดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และมีความเห็น ถ้าพบว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ก็เสนอให้ผู้อื่นมีอำนาจออกคำสั่งลงโทษตามลำดับที่กำหนด แต่ถ้าพบว่า ไม่ร้ายแรง ก็จะพิจารณาตามสมควรแก่กรณี ถ้าพบว่าไม่มีความผิดก็ยุติ ซึ่งเป็นไปตามลำดับอยู่แล้ว เรายังไม่ได้บอกว่าผิด หรือถูก แต่นี่กระบวนการที่กำหนดโดยกฎหมายและกฎของ ก.ตร.เท่านั้น” 

เมื่อถามว่าท่านก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดต ผบ.ตร. และต้องดำเนินการเรื่องนี้ จะส่งผลถึงตัวท่านหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ตอบว่า ตนไม่ได้คิดถึงประเด็นนั้น แน่นอนว่าตนคือ แคนดิเดต แต่เคยพูดแล้วว่าไม่เคยคิดถึงตำแหน่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เคยพูดว่าตนขออยู่กับปัจจุบัน และทำวันนี้ให้ดีที่สุด 

ดังนั้น ในบทบาทที่ตนเป็นรักษาการ ผบ.ตร. บทบาทหน้าที่และอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายที่ตนมี ก็คือไม่ต่างอะไรจากการเป็น ผบ.ตร.ก็ต้องพิจารณาตามหน้าที่และกฎหมาย โดยเรื่องที่จะเป็นอนาคต ไม่เคยคิด และไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร เราก็ต้องเคารพในความคิดเห็นของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ  ซึ่งนายกฯ จะเป็นผู้เสนอรายชื่อ 

“ผมจะทำวันนี้ตามหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด และอยากให้องค์กรของผมเดินหน้าต่อไป ให้ประชาชนเชื่อถือและศรัทธาเหมือน ที่ผมตั้งใจ แต่ถ้าตำรวจคนไหนประพฤติผิด ทำให้องค์กรเสียหาย ผมจะไม่ละเว้นแม้แต่รายเดียว” 
เมื่อถามว่าสงครามตัวแทนอาจพุ่งเป้ามาที่ท่านเอง

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่คิดได้ แต่อยากให้ทุกคนมองประเทศชาติและองค์กรของเราเป็นหลัก ตนไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อให้เกิดความถูกต้อง 

ส่วนความเป็นธรรมมีอยู่แล้วก็เป็นสิทธิ์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะไปชี้แจงข้อเท็จจริง หรือร้องทุกข์ หรืออุทธรณ์ ก็เป็นเรื่องที่ท่านทำได้อยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน แต่จะดึงตนเป็นคู่ขัดแย้ง คิดว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริง ตนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมอบหมายให้เป็นรักษาการ ผบ.ตร.ต้องอยู่ในจุดที่พร้อมรับทุกสิ่งทุกอย่าง การนำพาเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน แต่จะดึงตนเป็นคู่ขัดแย้ง คิดว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริงตนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เมื่อถามว่าไม่ได้มีใบสั่งอะไรใช่หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ไม่ได้ทำผิดกฎจราจร ไม่ต้องมีใบสั่ง ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของการพิจารณาเรื่องพฤติการณ์แห่งคดี และความร้ายแรงที่เกิดขึ้น เพราะ 

1.ความผิดที่ปรากฏขึ้นจากการรับรายงานมา เป็นกลุ่มกระบวนการจากคดีของ BNK มาสเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องการพนันออนไลน์ 

2.มีการพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับหมาย 

3.ศาลได้วินิจฉัยชัดเจนว่าหลีกเลี่ยงไม่รับหมาย และทำให้เกิดความเสียหายจึงออกหมายจับ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับองค์กร 

“ส่วนจะบอกว่าท่านไม่ได้ทำ ก็เป็นเรื่องที่ท่านต้องไปแก้ต่างในกระบวนการสอบสวนทางวินัย” รักษาการ ผบ.ตร. ระบุ