เครือข่ายประชาชนบุก“กกต.”จี้แก้ระเบียบแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ว.

07 พ.ค. 2567 | 08:22 น.

เครือข่ายประชาชนยื่น “กกต.” แก้ระเบียบแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ว. ชี้มีโทษอาญาสร้างความหวาดกลัวผู้สมัคร ปิดปากปิดหูปิดตาประชาชน-สื่อ

วันนี้ (7 พ.ค. 67) เครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรม  นำโดย นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายฯ และผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)  นางนันทนา นันทวโรภาส ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ได้เขายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คัดค้านและเรียกร้องให้ระงับการบังคับใช้ ระเบียบฯ การแนะนำตัว ส.ว. และแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และหลักการประชาธิปไตยมากที่สุด

โดย นายนนทวัฒน์ เหล่าผา อาสาสมัครเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (wewatch) กล่าวว่า เห็นว่า ระเบียบฯ ดังกล่าว วางกรอบการแนะนำตัวเข้มงวด เป็นการปิดปากผู้สมัคร ปิดปากสื่อมวลชน และ ปิดหูปิดตาประชาชน

จึงขอเรียกร้องให้ กกต .ระงับการบังคับใช้ระเบียบไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขเพื่อรองรับหลักการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีส่วนร่วมของประชาชน 

โดย กกต. ควรกําหนดมาตรการ และแผนงานในการส่งเสริมการรับรู้ การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบการทุจริตโดยประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ผ่านการเปิดกว้างเพื่อรับฟังเสียงประชาชนและสื่อมวลชน ที่จะได้รับผลกระทบให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า กกต. จะทำหน้าที่ได้อย่างยุติธรรม ให้กับสื่อมวลชน และประชาชน ในกระบวนการเลือกตั้ง ส.ว. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ 

นายวรา กล่าวว่า กกต.ต้องไม่ให้กฎระเบียบมาเป็นกำแพงกั้นขวางความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ให้สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าว และ ให้ผู้สมัครได้แถลงข้อมูลแก่ประชาชน กกต.อย่าเอากฎระเบียบมาขวางความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

"ส.ว.เป็นหนึ่งใน 500 คนของรัฐสภา ที่ยึดโยงโดยตรงกับภาคประชาชน ฉะนั้น วันนี้มาเพื่อเรียกร้อง กกต. ว่าอย่าปิดกั้น การมีส่วนร่วมของประชาชน เสรีภาพของผู้สมัคร หรือ ของสื่อมวลชน"

                            นันทนา นันทวโรภาส ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.

ด้านนางนันทนา กล่าวว่า เห็นสอดคล้องกับ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนบางข้อของระเบียบฉบับนี้ แต่ศาลปกครองนัดไต่สวนวันที่ 16 พ.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีกฤษฎีกาการเลือก ส.ว. ออกมาแล้ว จึงต้องมายื่นต่อกกต.โดยตรง เพื่อกระตุ้นให้เห็นว่า ระเบียบนี้ส่งผลต่อความหวาดกลัวไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ผู้สมัครได้แนะนำตัวให้ประชาชนได้รับรู้ กกต.จึงควรจะปรับปรุงระเบียบให้สอดคล้อง กับข้อเท็จจริงและทันต่อการที่จะมีกฤษฎีกาการเลือกส.ว.ออกมา 

"ระเบียบกกต.ที่ออกมา ข้อกำหนดเรื่องการแนะนำตัว ถ้าผู้สมัครทำผิดพลาดไปมีโทษทางอาญา เป็นเรื่องที่สร้างความหวาดกลัว ทั้งที่การเลือก ส.ว. ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ ประชาชนไม่ได้รับรู้มาก่อน ดังนั้น ถ้าผู้สมัครแนะนำตัวผิดพลาดไปก็ไม่ควรมีโทษทางอาญา 

อีกทั้งการแนะนำตัวที่ให้แนะนำกับผู้สมัครด้วยกันเอง ก็ไม่มีใครรู้ว่าใครประสงค์จะสมัคร เพราะ กกต. ก็ไม่มีช่องทางการสื่อสารว่า ใครจะเป็นผู้สมัคร ตรงนี้เป็นการปิดกั้นผู้สมัครด้วยกันเอง และไม่ควรจำกัดให้แนะนำเฉพาะกับผู้สมัครด้วยกัน ประชาชนควรจะได้รับรู้ด้วย เพราะแม้จะไม่ได้เลือก แต่ ส.ว. ก็เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ควรที่จะได้รับรู้ประวัติของผู้สมัคร และมีส่วนที่จะได้เฝ้ามองการเลือกครั้งนี้ 
ฉะนั้นเมื่อมีผู้ออกมาท้วงติง  กกต.ควรจะรับฟัง และยังมีเวลาที่จะปรับปรุงระเบียบ เพื่อไม่ให้ถูกข้อครหานินทาจากประชาชนว่า กกต.ไม่ได้สนับสนุนการเลือก ส.ว. และไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนทั้งหมดได้รับรู้ข้อมูลการเลือกตั้งครั้งนี้"

                         เครือข่ายประชาชนบุก“กกต.”จี้แก้ระเบียบแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ว.

นางนันทนา กล่าวด้วยว่า การที่มาวันนี้ไม่ได้ต้องการร้องเป็นคดีความ ไม่ได้ต้องการให้มีการดำเนินคดีกัน เป็นการมาขอความเห็นใจ ความเข้าใจจาก กกต. ว่าการเลือก ส.ว. ครั้งนี้ เป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประสงค์จะสมัครสำหรับประชาชน สำหรับสื่อมวลชน 

“ถ้า กกต. เห็นว่า การเลือก ส.ว. เป็นภารกิจสำคัญ ควรให้ความสำคัญกับกฎกติกา ที่จะออกมาบังคับใช้ กับผู้ประสงค์จะสมัคร และสื่อมวลชน ให้มีความโปร่งใสชัดเจน แต่ถ้า กกต. ไม่คิดจะทบทวนกติกาปรับปรุง เท่ากับ กกต. ไม่ได้สนับสนุนการเลือกให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของ กกต.เสียหายเอง” นางนันทนา ระบุ