โลกยังมีหวัง สรุปเรื่องราวเชิงบวก “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” ปี 2023

31 ธ.ค. 2566 | 01:00 น.

สรุปเรื่องราวเชิงบวก “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” ปี 2023 เรื่องราวที่เกิดขึ้นเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าโลกของเรายังมีความหวัง

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับ "วิกฤติสภาพภูมิอากาศ" เป็นเรื่องจริงที่เกิดตลอดปี 2023 แต่ในเรื่องราวที่เป็นข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดีตลอดปี 2023 เช่นกัน สิ่งเหล่านี้อาจพิสูจน์ให้เห็นว่าโลกของเรายังมีความหวังในการต่อสู้กับ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เพราะการสิ้นหวังอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการไม่เเยเเสต่อการแก้ปัญหาสิ่งเเวดล้อม 

ในปี 2023 มีข่าวดีที่เกิดขึ้นเเละจะยังคงมีต่อไป เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้น ระบบนิเวศที่เปราะบางได้รับสิทธิและกฎระเบียบการด้านสภาพอากาศเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นการรวบรวมจากสำนักข่าวทั้งในเเละต่างประเทศ ซึ่งทำให้ได้รับการอัพเดทอย่างต่อเนื่องโดยจะไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด

 

COP28 บรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 

ข้อตกลงที่ส่งสัญญาณสำหรับ "เชื้อเพลิงฟอสซิล" ได้รับการตกลงกันในการ ประชุม COP28 นับเป็นครั้งแรกที่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติได้สรุปด้วยการเรียกร้องให้แก้ไข เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งพบว่าโลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้นถึง 1.2 องศาเซลเซียส และภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น

รถบรรทุกพลังงานแสงอาทิตย์คันแรกของโลก

การขนส่งในยุโรปคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทวีป สัดส่วนที่สำคัญมาจากยานพาหนะขนส่งสินค้าหนัก การขนส่งสินค้ายังคงจำเป็นแต่เราจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งได้อย่างไร

ข้อมูลจาก carscoops ระบุว่า Scania ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Uppsala และบริษัทอื่น ๆ ทดสอบรถกึ่งปลั๊กอินไฮบริดที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยตัวพ่วงท้ายติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 1,076 ตารางฟุต สร้างพลังงานได้ประมาณ 8,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี มีกำลังระดับ 552 แรงม้า รถพ่วงขนาด 18 เมตรมีแผงโซลาร์เซลล์น้ำหนักเบาติดตั้งไว้โดยรอบ ครอบคลุมพื้นที่ 100 ตารางเมตร (1,076 ตารางฟุต) Scania กล่าวว่าเทียบเท่ากับบ้านที่ติดตั้งแผงที่ทรงพลัง

เครดิตภาพ : British Recycled Plastic

 

อินเดียสร้างโครงการพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

อินเดียขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม เป็นโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่เท่ากับสิงคโปร์ เพื่อปั้นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 726 ตารางกิโลเมตร ในระยะสั้น คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 30 กิกะวัตต์ (GW) เพียงพอที่จะให้แสงสว่างกับบ้านเรือนมากกว่า 20 ล้านหลัง 

โครงการนี้ตั้งอยู่ใน Rann of Kutch ซึ่งเป็นทะเลทรายเกลืออันกว้างใหญ่ ในภูมิภาคคุช รัฐคุชราตทางตะวันตกของอินเดีย ติดกับปากีสถาน ชื่อว่า อุทยานพลังงานหมุนเวียน Khavda ซึ่งตั้งชื่อตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ที่สุดในบริเวณโครงการ โดยรัฐบาลอินเดียประเมินต้นทุนของโครงการขนาดใหญ่นี้ว่าต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 2.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนถึงขนาดและความสำคัญของการลงทุนเพื่ออนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืนของอินเดียอุทยานพลังงานสีเขียวแห่งนี้ที่มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 3 ปี

แผนการเพื่อปกป้องมหาสมุทรโลก

สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เปิดตัวโครงการริเริ่มใหม่ที่ทะเยอทะยานเพื่อปกป้องมหาสมุทรของโลก ในระหว่างการประชุม IUCN Leaders Forum โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทางทะเล พลังงานทดแทนในมหาสมุทร การขนส่งทางเรือ สัตว์น้ำ และการท่องเที่ยวชายฝั่ง

พลังงานสะอาดจะทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลถึงจุดสูงสุด

ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกอาจถึงจุดสูงสุดก่อนสิ้นทศวรรษนี้ ตามรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) World Energy Outlook 2023 เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม รถยนต์ไฟฟ้า และปั๊มความร้อน ที่เพิ่มขึ้นกำลังมาถูกทางเพื่อปรับวิธีที่จ่ายพลังงานให้กับทุกสิ่งตั้งแต่บ้านไปจนถึงยานพาหนะและโรงงาน

AI ที่ผูกติดกับต้นไม้กำลังต่อสู้กับการทำลายล้างป่าฝนอเมซอนของบราซิล

กล่องอัจฉริยะเทียม (AI) ขนาดเล็กที่ผูกติดกับลำต้นของต้นไม้ในอเมซอนของบราซิล เป็น กล่องที่มีเซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์ที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อจดจำเสียงเลื่อยไฟฟ้าและรถแทรกเตอร์ หรืออะไรก็ตามที่อาจทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า 

กังหันลมผลิตพลังงานเพียงพอในหนึ่งวันเพื่อจ่ายให้กับบ้านเรือน 170,000 หลังคาเรือน

กังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในโลกทำลายสถิติการผลิตไฟฟ้าจากกังหันเพียงตัวเดียวในหนึ่งวันมากที่สุด นอกชายฝั่งจากมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 1 กันยายน กังหันลมซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 252 เมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 384.1 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ใน 24 ชั่วโมง ในขณะที่พายุไต้ฝุ่นพัดถล่มทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน

ซึ่งเพียงพอต่อการจ่ายไฟให้กับบ้านเรือนประมาณ 170,000 หลังคาเรือน หรือไฟ LED 38 ล้านดวง หรือระยะทาง 2.2 ล้านกิโลเมตรที่ขับเคลื่อนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า

บ้านที่ทำจากเชื้อราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการก่อสร้าง

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกต่อปีเกิดจากสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นในจำนวนนี้ 11เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากการผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และแก้ว

สถาปนิกและนักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานเพื่อหาทางลดผลกระทบต่อสภาพอากาศจากวัสดุที่สำคัญเหล่านี้ แต่ทางเลือกคาร์บอนต่ำเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุหนึ่งที่แสดงให้เห็นแนวโน้มที่แท้จริงในโลกแห่งการก่อสร้างคือ เชื้อรา

เบียร์ผงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากในการส่งออกเบียร์

ขวด กระป๋อง และถังที่บรรจุของเหลวล้วนมีน้ำหนักมาก จากเครื่องคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของ Impact CO2 พบว่าบรรจุภัณฑ์และการขนส่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเบียร์หนึ่งลิตร

ดังนั้นหากสามารถลดขนาดบรรจุภัณฑ์และความต้องการในการขนส่ง ก็สามารถลดผลกระทบของอุตสาหกรรมเบียร์ได้อย่างมาก และนี่คือสิ่งที่โรงเบียร์ Neuzelle ในเยอรมนีกำลังพยายามทำ โดยได้พัฒนาเบียร์ผงเป็นรายแรกของโลก ซึ่งโรงเบียร์ที่อยู่ทางตะวันออกของเยอรมนีแห่งนี้ หวังว่าเบียร์ผงจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากในการส่งออกเบียร์

UN รายงานชั้นโอโซนฟื้นตัวได้ภายในไม่กี่ทศวรรษ

การปล่อยสารเคมีบางชนิดจากมนุษย์ทำให้เกิดรูเปิดในชั้นโอโซนทุกปีเหนือแอนตาร์กติก สิ่งนี้ส่งผลต่อความสามารถของโอโซนในการปกป้องชีวิตบนโลกจากรังสีที่เป็นอันตรายของดวงอาทิตย์

ปัจจุบัน พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่ง 197 ประเทศให้คำมั่นว่าจะยุติการใช้สารเคมีทำลายชั้นโอโซนประสบผลสำเร็จแล้ว

คณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ ซึ่งนำเสนอในการประชุมประจำปีของสมาคมอุตุนิยมวิทยาอเมริกัน ระบุว่า โอโซนจะฟื้นตัวได้ภายในปี 2509 เหนือทวีปแอนตาร์กติก ภายในปี 2588 ทั่วอาร์กติก และภายในปี 2583 ทั่วทั้งโลก