เนทันยาฮู สั่งปิด"อัลจาซีรา"ในอิสราเอล โทษฐานเป็นกระบอกเสียงฮามาส

06 พ.ค. 2567 | 05:00 น.

ตำรวจอิสราเอลบุกยึดอุปกรณ์สำนักข่าวอัลจาซีรา ในกรุงเยรูซาเลมวานนี้ (5 พ.ค.) ด้วยข้อกล่าวหา อัลจาซีราเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มฮามาสและเป็นภัยต่อความมั่นคงของอิสราเอล

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก หรือ “วันสื่อมวลชนโลก” ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี แต่ผ่านไปเพียงสองวันที่กรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ก็มีการบุกเข้ายึดและสั่งปิด สำนักข่าวอัลจาซีรา ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่ถือกำเนิดในประเทศกาตาร์ โดยรัฐบาลอิสราเอลมีคำสั่งปิดสำนักงานของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราในประเทศอิสราเอลและช่องทางสื่อทั้งหมดของอัลจาซีรา จนกว่าสงครามในฉนวนกาซาจะยุติ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อิสราเอลให้เหตุผลว่า การทำงานของสถานีข่าวอัลจาซีรา กระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอล และยังกล่าวหาด้วยว่า สำนักข่าวดังกล่าวเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มฮามาส  

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตำรวจอิสราเอลบุกห้องพักของโรงแรม Ambassador Hotel ในนครเยรูซาเลมเมื่อวันอาทิตย์ (5 พ.ค.) ซึ่งเชื่อเป็นห้องทำงานของสำนักข่าวอัลจาซีราหลังจากที่ทางการอิสราเอลสั่งปิดเครือข่ายของอัลจาซีราในอิสราเอลทั้งหมด คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย X แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่อิสราเอลบุกเข้ายึดอุปกรณ์ถ่ายภาพและวิดีโอภายในห้องพักดังกล่าว

สำนักข่าวอัลจาซีราในอิสราเอล ถูกสั่งปิดสายฟ้าแลบเมื่อวันอาทิตย์ (5 พ.ค.2567)

นายเบนจามิน เนทันยาฮู แถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การปิดสำนักข่าวอัลจาซีราในอิสราเอลนั้นมีผลบังคับใช้ในทันทีและไม่มีกำหนด จนกว่าสงครามในกาซาจะสิ้นสุดลง เนื่องจากสำนักข่าวแห่งนี้ซึ่งเป็นของรัฐบาลกาตาร์ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอิสราเอล

ด้านนายชโลโม คาร์ฮี รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารอิสราเอล ระบุว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนนี้ ต่อผู้ที่ใช้เสรีภาพสื่อเพื่อสร้างอันตรายต่อความมั่นคงของอิสราเอลและกองทัพอิสราเอล อีกทั้งยังปลุกปั่นให้เกิดการก่อการร้ายในช่วงที่กำลังเกิดสงคราม “จะต้องไม่มีเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่เป็นกระบอกเสียงของฮามาสในอิสราเอล"นายคาร์ฮีกล่าว

การปิดสำนักข่าวอัลจาซีราในอิสราเอลครั้งนี้ รวมถึงการปิดช่องสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา ช่องเคเบิล สถานีดาวเทียม และเว็บไซต์ทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับสำนักข่าวแห่งนี้ในอิสราเอล

เสียงโต้ตอบของพิราบขาว

สำนักข่าวอัลจาซีรา เรียกมาตรการของอิสราเอลที่ดำเนินการต่อสื่อในครั้งนี้ว่า "การกระทำของอาชญากรที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ"

อิสราเอลยังคงถล่มโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องเพื่อขุดรากถอนโคนกลุ่มฮามาส (ภาพข่าว AFP)

พร้อมกันนี้ ยังระบุว่า การที่อิสราเอลกล่าวหาว่าอัลจาซีราคุกคามความมั่นคงของอิสราเอลนั้น "เป็นการโกหกที่อันตราย" และทำให้ชีวิตของผู้สื่อข่าวอัลจาซีราตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งนี้ เท่าที่ผ่านมา อัลจาซีรารายงานและวิจารณ์ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซามาโดยตลอด

ด้าน สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ตำหนิการตัดสินใจปิดสำนักข่าวอัลจาซีราในประเทศอิสราเอลว่า อาจยิ่งสร้างความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับประเทศกาตาร์ ทั้งที่รัฐบาลกาตาร์กำลังพยายามทำหน้าที่เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงในกาซาระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลยกเลิกคำสั่งปิดอัลจาซีรา โดยระบุว่า "สื่อที่เสรีและเป็นอิสระเป็นสิ่งสำคัญในการรับรองความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดที่เข้มงวดในการรายงานข่าวจากฉนวนกาซา"

ขณะเดียวกัน สมาคมเพื่อสิทธิพลเมืองในอิสราเอล (ACRI) ระบุว่า ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาของอิสราเอลแล้ว เพื่อให้ศาลออกคำสั่งชั่วคราวให้ยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าวของรัฐบาล

ACRI ระบุว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า อัลจาซีราเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มฮามาสนั้นไม่มีมูลความจริง และคำสั่งปิดช่องข่าวดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อห่วงกังวลด้านความปลอดภัยมากนัก แต่น่าจะมีแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่า โดยมีเป้าหมายเพื่อปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์และพุ่งเป้าไปยังสื่ออาหรับ

ด้าน สมาคมสื่อมวลชนต่างประเทศ (FPA) เรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว และว่า การปิดอัลจาซีราในอิสราเอลทำให้เกิดความห่วงใยในกลุ่มคนที่สนับสนุนเสรีภาพสื่อ

"ขณะนี้อิสราเอลได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่น่าเคลือบแคลงใจของรัฐบาลเผด็จการที่ปิดสถานีโทรทัศน์" FPA ระบุ พร้อมทั้งเตือนว่า เนทันยาฮูมีอำนาจในการกำหนดเป้าหมายไปยังสื่อต่างชาติรายอื่นๆ ที่เขาเห็นว่าดำเนินการอันเป็นการต่อต้านรัฐได้อีกด้วย

คาร์ลอส มาร์ติเนซ เด ลา เซอร์นา ผู้อำนวยการ คณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าว (CPJ) สะท้อนข้อวิตกกังวลนี้เช่นกัน โดยระบุว่า คณะรัฐมนตรีอิสราเอลต้องอนุญาตให้อัลจาซีราและสื่อต่างประเทศทั้งหมด ดำเนินงานได้อย่างเสรีในอิสราเอลโดยเฉพาะในช่วงสงคราม