นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC SME 2022 ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในครั้งนี้
ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แสดงศักยภาพ ความพร้อมของ “ไข่มุกแห่งอันดามัน” ด้วยธรรมชาติที่สวยงาม วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงศิลปะทางสถาปัตยกรรมเก่าแก่ สไตล์ชิโน-โปรตุกีส ในย่านชุมชนเมืองเก่า
ที่สำคัญภูเก็ตยังเป็นพื้นที่นำร่อง ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร และยังมีนวัตกรรมบริการในระดับมาตรฐานนานาชาติ รวมถึงการเป็นเมือง MICE CITY
นายณรงค์กล่าวอีกว่า จังหวัดภูเก็ตยังมีแนวทางการพัฒนา ที่มุ่งสร้าง Soft Power ในด้านต่าง ๆ เพื่อลดการพึ่งพิงการท่องเที่ยวกระแสหหลัก โดยแก้ไขจุดอ่อนหลังผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางอาหารของโลก เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา เป็นเมืองที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากดิจิทัลเทคโนโลยีและจากการเป็นเมือง MICE City ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาแบบอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นหลักของการประชุมในครั้งนี้ คือการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ด้วยโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“การที่จังหวัดภูเก็ตได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุม APEC SME ครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดี ในฐานะตัวแทนเขตเศรษฐกิจไทย ที่จะแสดงศักยภาพและความพร้อม ในการเปิดบ้านต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ที่จะตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SME ในภูเก็ต ซึ่งมีจำนวน 42,598 ราย มีการจ้างแรงงานรวมกว่า 224,905 ราย ยังได้แสดงศักยภาพความพร้อม และสามารถสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ทั้งในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง ให้เป็นที่รับรู้ในระดับสากล ซึ่งจะเป็นกลไกสร้างเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ต่อไป”
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยมีวาระเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ในปี พ.ศ. 2565 หรือ APEC 2022 หนึ่งในกรอบการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คือกรอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME
โดยนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดการประชุมฯ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธาน โดยมอบหมายให้สสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ด้านการส่งเสริม SME ของประเทศ และมีบทบาทในฐานะผู้แทนไทยในคณะทำงาน APEC SME ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในระหว่างวันที่5-10 กันยายน 2565 นี้ที่จังหวัดภูเก็ต
“APEC เป็นศูนย์รวมของเขตเศรษฐกิจชั้นนำถึง 21 เขตเศรษฐกิจ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านล้านบาท หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก การจัดประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่อการส่งเสริม SME ไทย
ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดท่าทีที่จะรักษาผลประโยชน์ของไทยและธุรกิจ SME ในเวทีความร่วมมือพหุภาคี พร้อมกับเชื่อมโยง SME ไทยกับพันธมิตรธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโอกาสทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างศักยภาพ SME ไทย เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” นายวีระพงศ์ กล่าว
สำหรับการจัดประชุม APEC SME ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.การประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค (APEC SME Ministerial Meeting) ครั้งที่ 28 ซึ่งเป็นการประชุมระดับนโยบายด้านการพัฒนา SME
2. การประชุมคณะทำงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค (APEC SME Working Group Meeting) ครั้งที่ 54 ซึ่งเป็นการประชุมระดับปฏิบัติการ และ
3.การประชุมรวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยดำเนินการภายใต้หัวข้อหลัก “โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG Model) คือ “Inclusive Recovery of APEC MSMEs through BCG & High Impact Ecosystem” หรือ “การฟื้นตัวโดยรวมของ SME ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผ่าน BCG และระบบนิเวศที่มีผลกระทบสูง”
ทั้งนี้ จะมีหัวข้อย่อยตามแนวทางการส่งเสริมศักยภาพ SME ภายใต้ BCG Model รวม 4 หัวข้อ ได้แก่
1.การเร่งรัดการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Accelerating BCG Adoption)
2.การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม (Inclusive Digital Transformation)
3.การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ (The Next Normal MSME Financing and Debt Restructuring) และ
4.การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป (Copingwithevolvingmarket landscape: high impact policy)
นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของจังหวัดภูเก็ต รวมถึงผู้ประกอบการ SME ไทย โดยการจัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ SME ไม่น้อยกว่า 20 ราย ตลอดระยะเวลาการจัดงาน และการจัดกิจกรรมคู่ขนาน โดยการนำคณะผู้แทนและผู้เกี่ยวข้องฯ เข้าเยี่ยมชมย่านชุมชนเมืองเก่า (Phuket Old Town) เพื่อให้เห็นวิถีชีวิตและสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสอันงดงาม ที่เชื่อมภูมิภาคตะวันออกและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน และกลุ่มชุมชนบ้านบางโรง ชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร วิถีวัฒนธรรมซึ่งเป็น Soft Power ที่มีผู้ประกอบการ SME เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ
“ภายใต้ความร่วมมือที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต ร่วมถึงส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) การท่าอากาศยานภูเก็ต อุตสาหกรรมจังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด เทศบาลนครภูเก็ต ฯลฯ รวมทั้งภาคเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพด้วยการเตรียมการต้อนรับ การเตรียมความพร้อมทั้งด้านการจัดประชุมการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของพื้นที่และประเทศไทย รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปสู่วงกว้าง จะทำให้การจัดงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ช่วยให้ไทยมีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการส่งเสริม SME ได้ตามเป้าหมายที่มุ่งหวังไว้อย่างแน่นอน”นายวีระพงศ์ กล่าว