กาล่าดินเนอร์ผู้นำเอเปค 2022 เบิร์ด ธงไชย นำทีมโชว์ร้องเพลง

14 พ.ย. 2565 | 14:51 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2565 | 09:11 น.

กาล่าดินเนอร์ผู้นำเอเปค 2022 เบิร์ด ธงไชย นำทีมโชว์ร้องเพลง พร้อมโชว์การแสดง 4 ภาค เทศกาลลอยกระทงในน่านน้ำเจ้าพระยาสุดอลังการ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ หอประชุมกองทัพเรือ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่าตามที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดำเนินกิจกรรมการแสดงสำหรับการจัดงานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ หอประชุมกองทัพเรือ 

โดยภายในงานเลี้ยงอาหารค่ำหรือ กาล่าดินเนอร์ ต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค จะมีการจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทยมากมาย รวมถึงการแสดงร้องเพลงจากศิลปินอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ได้แก่

 

  • เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ 

เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์

 

  •  รัดเกล้า อามระดิษ

 

  • วิน วศิน พรพงศา

 

  • ปุ้ย ดวงพร พงศ์ผาสุก

 

  • กิต กิตตินันท์ ชินสําราญ 

 

ทั้งนี้ศิลปินจะแสดงร้องเพลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ และบทเพลงสากลที่เป็นที่นิยม แสดงให้ต่างชาติได้เห็นถึงความสามารถของพระมหากษัตริย์ไทย และศิลปินไทยที่มีพรสวรรค์

นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ 4 เหล่าทัพ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานภายในสังกัดวธ. 

 

ไม่ว่าจะเป็นสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จัดการแสดงภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงาน APEC Thailand 2022 คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล Open Connect Balance” ร้อยเรียงเรื่องราวอันงดงาม ถ่ายทอดเป็นผลงานการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมที่งดงามประกอบฉาก แสง สี เสียง 


สำหรับองก์ที่ 1 : OPEN TO ALL OPPORTUNITIES เป็นการบรรเลงบทเพลงโดยวงดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ พร้อมวงดนตรีไทยร่วมสมัยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ประกอบกับ
การขับร้องเพลงโดยศิลปินระดับแนวหน้าของไทย 

 

องค์ที่ 2 : CONNECT IN ALL DIMENSIONS การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทยร่วมสมัยจากดีไซน์เนอร์เขตเศรษฐกิจเอเปคทั้ง 21 เขต 

 

องค์ที่ 3 : BALANCE  IN ALL ASPECTS ประกอบด้วย การร้อยเรียงศิลปวัฒนธรรมถ่ายทอดในรูปแบบการแสดงประเพณีดั้งเดิมและการแสดงร่วมสมัย

 

ภายใต้แนวคิดหลักของการประชุม “Open. Connect. Balance.” และตราสัญลักษณ์สำหรับการประชุม “ชะลอม” ผ่านการแสดงจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง 

 

ประกอบกับ “ประเพณีลอยกระทง” ของประเทศไทยอันเกี่ยวเนื่องกับการแสดงความเคารพบูชา “สายน้ำ” เป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงทุกเขตเศรษฐกิจเข้าด้วยกันสู่ความสมดุล