นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้รับเกียรติกล่าวต้อนรับ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจเอเปค APEC CEO SUMMIT THAILAND 2022 โดยชื่นชมนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ภายใต้การนำของนายมาครง ที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิด-19 ได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป
ทำให้ฝรั่งเศสเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก อีกทั้ง ยังสร้างโอกาสจากวิกฤติ เตรียมความพร้อมประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายของโลกธุรกิจในอนาคต ที่เปลี่ยนผ่านไปสู่โลกสีเขียวและโลกดิจิทัล
นายมาครง เป็นหนึ่งในผู้นำที่สนับสนุนความตกลงปารีส (Paris Agreement) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะนำประเทศฝรั่งเศสเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยเรียกร้องให้มีนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนทางระบบนิเวศ และสนับสนุนให้มีการหา "จุดสมดุลระหว่างการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อระบบนิเวศ” ในประเทศฝรั่งเศส
พร้อมมีบทบาทสำคัญในระดับสหภาพยุโรป ในการขับเคลื่อนปณิธานเรื่องการลดโลกร้อน ผ่านแผนการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป (European Green Deal) นับเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศอื่นทั่วโลก
ทั้งนี้ การที่นายมาครงได้รับการเลือกตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นสมัยที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการบริหารประเทศในสมัยแรก ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีทั้งของฝรั่งเศส ยุโรป และทั่วโลก ที่จะมีผู้นำอย่างนายมาครงเป็นหัวเรือขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-ฝรั่งเศส ทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน โดยมีการลงนามในแผนปฏิบัติการ (Roadmap) ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สำหรับปี 2022 – 2024 ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านนวัตกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และสุขภาพ เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่สดใสสำหรับประเทศฝรั่งเศส ประเทศไทย และโลกใบนี้
ทั้งนี้นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Navigating a Turbulent world โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ กลับมาเคารพกฎระเบียบระหว่างประเทศ และสนับสนุนกลไกพหุภาคี เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของโลก
ซึ่งปัจจุบันโลกกำลังเผชิญความท้าทายที่มาจากจุดเปลี่ยน 3 ประการคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกิดวิกฤติทางอาหารและพลังงาน การเผชิญหน้ากันของประเทศมหาอำนาจที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อระเบียบโลก การค้าและการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับโลกและผู้นำธุรกิจ ที่จะร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ