*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3827 ระหว่างวันที่ 16-19 ต.ค.2565 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** อุณหภูมิของประเทศไทย ณ ขณะนี้เริ่มได้สัมผัสกับ “ลมหนาว” กันบ้างแล้ว เมื่อลมหนาวมา สถานการณ์ฝนตกก็น่าจะบางเบาลง พี่น้องคนไทยที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมก็จะได้ค่อยๆ บรรเทาความทุกข์ยากลง เมื่อ “น้ำลด” สถานการณ์หลายพื้นที่เริ่มดีขึ้น รัฐบาลก็ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาให้ทันท่วงที และทั่วถึงทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา
ซึ่งรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ก็ได้กำชับในที่ประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 11 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เริ่มลงพื้นที่สำรวจความเสียหายเพื่อทำเรื่องเบิกจ่าย เช่น การซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ทางหลวงชนบท
ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดูแลเรื่องการจัดการปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยนายกรัฐมนตรีได้เตรียมเรื่องงบประมาณที่คาดว่าในเบื้องต้นการฟื้นฟูเยียวยาครั้งนี้ จะใช้งบประมาณอย่างน้อย 2.3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นไปตามระเบียบ ข้อกฎหมายที่จัดการให้ได้ ส่วนอะไรที่จะเพิ่มเติมให้ได้ นายกฯ ยินดีที่จะดูแลให้ เพื่อให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง ครบถ้วน
*** มีรายงานว่า ในที่ประชุม ครม. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ได้เสนอแนะกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า น้ำท่วมครั้งนี้มีประชาชนเดือดร้อนมาก อยากให้นายกฯ สั่งการให้ ครม.ลงพื้นที่ แก้ไขปัญหาให้ประชาชน ขาดส่วนไหนจะได้ช่วยเขา จะได้ทำให้ประชาชนรู้สึกดี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เห็นด้วย โดยกำชับว่า “รัฐมนตรี” มีเขตรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่เวลาลงไปให้รับเรื่องมา แต่อย่าเพิ่งรับปาก ให้มาดูงบประมาณก่อน อย่างที่ตนลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ มีเกษตรกรยาสูบมาของบประมาณ 50 ล้านบาท แต่พอไปตรวจสอบพบว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้ว แต่เงินตรงนั้นไม่ไปถึงชาวบ้าน จึงขอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปตรวจสอบว่าเงินหายไปไหน
*** ไปดูความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ บอกว่า เป็นห่วงเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงสั่งการ “กรมปศุสัตว์” ให้ตั้งวอร์รูมงส่วนกลางและทุกจังหวัด เพื่อพร้อมเข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานเพื่อสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ไปช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเข้าดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ป่วยทั่วประเทศแล้ว
ล่าสุดกำชับให้กรมปศุสัตว์จัดหน่วยงานบริการเคลื่อนที่เร็วสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง โดยทันทีที่เกิดภัย เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ต้องเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ขณะนี้กรมปศุสัตว์ระดมเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเพิ่มเติม กระจายลงพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพสัตว์ให้ทั่วถึง ซึ่งได้นำอาหารสัตว์ไปให้เกษตรกร อพยพสัตว์ รักษาและดูแสสุขภาพ ตลอดจนแจกถุงยังชีพสำหรับสัตว์
*** รมต.เกษตรฯ บอกว่า ได้รับรายงานจากศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ. ปศ.) กรมปศุสัตว์ กรณีสถานการณ์น้ำท่วม น้ำไหลหลาก และท่วมขังว่า เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 13 จังหวัด จำนวน 91 อำเภอ 323 ตำบล 1,515 หมู่บ้าน มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 43,819 ราย สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบ 1,542,015 ตัว แบ่งเป็น โค 126,674 ตัว กระบือ 27,844 ตัว สุกร 26,837 ตัว แพะ- แกะ 5,735 ตัว และสัตว์ปีก 1,354,925 ตัว
ปัจจุบัน (10 ต.ค. 65) ได้ให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าได้แก่ หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 421,140 กิโลกรัม อพยพสัตว์ 115,414 ตัว สร้างเสริมสุขภาพสัตว์ 10,690 ตัว รักษาดูแลสุขภาพสัตว์ 1,025 ตัว และแจกถุงยังชีพสำหรับสัตว์ 1,052 ถุง โดยได้เน้นย้ำให้กรมปศุสัตว์เตรียมพร้อมทุกด้านตลอดเวลา โดยประสานหน่วยงานของกรมปศุสัตว์และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำรวจความเสียหายของเกษตรกร เพื่อขอรับการชดเชย ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดความสูญเสียของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์
*** ปิดท้ายกันที่ พงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บอกว่า ธนาคารกรุงศรีฯ มีความห่วงใยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มลูกค้าบุคคล ครอบคลุมทั้งลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคล ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจรายย่อย และลูกค้ากรุงศรี ออโต้ ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อคนมีรถ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
ประกอบด้วย มาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือลูกค้า ได้แก่ ลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคล พักชำระเงินต้น สูงสุดนาน 6 เดือน, ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจรายย่อย พักชำระเงินต้นสูงสุดนาน 6 เดือน, ลดค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนสูงสุด 85% และผ่อนชำระได้สูงสุด 12 เดือน, ส่วนลูกค้า กรุงศรี ออโต้ ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อคนมีรถ พักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุดนาน 3 เดือน , ลดค่างวดและขยายเวลาการผ่อนชำระ
*** นอกจากนี้ ลูกค้าสินเชื่อบ้านและสินเชื่อธุรกิจกรุงศรีที่ถือครองกรมธรรม์ 1.ประกันอัคคีภัยสินเชื่อสำหรับบ้านอยู่อาศัยและธุรกิจ 2.ประกันกรุงศรี โฮม 3.ประกันทรัพย์สิน อุ่นใจ ก็สามารถติดต่อแจ้งเคลมค่าสินไหมประกันภัยทรัพย์สินกรณีฉุกเฉินจากสถานการณ์น้ำท่วม ได้ที่สายด่วน AAGI 1292 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อธุรกิจรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและแจ้งความประสงค์ขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่ www.krungsri.com หรือ Krungsri Call Center 1572 และสาขาธนาคารกรุงศรีอยุธยาทั่วประเทศ