เช็ค! พื้นที่น้ำท่วมขัง - เส้นทางคมนาคม ลดความเสี่ยง

15 ต.ค. 2565 | 05:18 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2565 | 12:34 น.

กระทรวงคมนาคม - GISTDA สรุปข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมขัง และเส้นทางคมนาคม ที่ประสบปัญหาอุทกภัย พร้อมเตือนติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ลดความเสี่ยงการเดินทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า GISTDA ได้เผยข้อมูลจากดาวเทียม COSMO-Skymed-1 วันที่ 14 ตุลาคม 2565 แสดงให้เห็นพื้นที่น้ำท่วมขังบางส่วนในเขต ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง และลุ่มน้ำท่าจีน ทั้งสิ้น 1,178,025 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ พื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำ และเส้นทางคมนาคมบางส่วน

เช็ค! พื้นที่น้ำท่วมขัง - เส้นทางคมนาคม ลดความเสี่ยง

ขอให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและใกล้เคียง โดยเฉพาะตามแนวริมตลิ่ง ริมลำน้ำสายหลักสายรอง เฝ้าสังเกตสถานการณ์และติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด


 

ด้านกระทรวงคมนาคม สรุปรายงานอุทกภัยในเส้นทางคมนาคม ข้อมูล ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2565 เวลา 15.00 น. รายละเอียดดังนี้

 

โครงข่ายคมนาคมที่ได้รับผลกระทบ รวม 206 สายทาง 296 แห่ง ผ่านได้ 132 แห่ง ผ่านไม่ได้ 164 แห่ง โดยสรุปแยกตามประเภทโครงข่าย ดังนี้

 

  • ถนนทางหลวง ได้รับผลกระทบ 48 สายทาง 71 แห่ง ผ่านได้ 40 แห่ง ผ่านไม่ได้ 31 แห่ง
  • ถนนทางหลวงชนบท ได้รับผลกระทบ 158 สายทาง 225 แห่ง ผ่านได้ 92 แห่ง ผ่านไม่ได้ 133 แห่ง

 

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน 29 จังหวัด โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่

  • จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบ 55 แห่ง
  • จ.ศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบ 29 แห่ง
  • จ.ขอนแก่น ได้รับผลกระทบ 23 แห่ง

บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถเดินรถได้ตามปกติ

 

ท่าอากาศยาน ไม่มีการรายงานการได้รับผลกระทบ

 

ท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินเรือโดยสารของเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry มีการปรับตารางเวลาการให้บริการตามสถานการณ์ของระดับน้ำ

 

กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ติดตั้งป้ายเตือน อุปกรณ์ความปลอดภัย และอุปกรณ์นำทาง ในบริเวณสายทางที่ถูกน้ำท่วม และวางกระสอบทรายเป็นแนวกั้นน้ำบริเวณสายทางที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์จนกว่าจะคลี่คลาย เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่ประชาชนในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ 

 

กรมเจ้าท่า (จท.) ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย 9 จุด พร้อมเจ้าหน้าที่ 79 คน เรือ 18 ลำ และรถยนต์/รถบรรทุก 21 คัน ให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำ/ปริมาณน้ำไหลผ่านของแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบ

 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะติดตามสถานการณ์อุทกภัยทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย